ปัตตานี - เทศบาลเมืองปัตตานี เปิดอุทยานการเรียนรู้ TK park ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้แก่เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเป็นทางการ
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่อุทยานการเรียนรู้ อ.เมือง จ.ปัตตานี หรือ TK park พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่ จ.ปัตตานี และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย เป็นแหล่งแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม สร้างโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่กล้าแสดงออก แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนจากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
การจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้นี้ โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และเทศบาลเมืองปัตตานี โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ตัวอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 6,476 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 2 ชั้น รูปทรงรังผึ้ง มีความสวยงามทันสมัย ภายในมีบริการต่างๆ เช่น ห้องสมุดที่มีหนังสือหลากหลายกว่า 2 หมื่นเล่ม ห้องสมุดสำหรับเด็ก ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์และสื่อความรู้ไอที ห้องเธียเตอร์ สำหรับฉายภาพยนตร์ การ์ตูน และสารคดีความรู้ต่างๆ ห้องประชุม ห้องติวเตอร์ ห้องศาสนา ห้องละหมาด และมุมให้บริการอาหารว่าง เครื่องดื่ม เป็นต้น
ซึ่งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ถือเป็นอุทยานการเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวคิด ห้องสมุดมีชีวิต สำหรับส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดนิสัยรักการอ่าน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ จ.ปัตตานี ได้พัฒนาด้านการศึกษาให้ทัดเทียมกับภูมิภาคอื่นของประเทศ
ด้าน นายราเมศ พรหมเย็น ผอ.สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า สำหรับ TK Park ในประเทศเทศไทย มีถึง 34 แห่ง ใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ที่เปิดในขณะนี้มี 19 แห่ง ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย วันที่เปิด TK Park ที่ จ.ปัตตานี เป็นที่ 20 และเป็นที่ที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดตัวมา ส่วนที่เป็นปัตตานี นอกจากจะเป็นที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังออกแบบต่างๆ ที่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย สะท้อนถึงความมั่นคงของผู้คนที่หลากหลายในท้องถิ่น และมีความเชื่อมโยง TK Park ที่ปัตตานีกับที่กรุงเทพฯ
ที่นี่จึงเป็น TK Park ที่มีข้อมูลที่เหนือกว่ากรุงเทพฯ เพราะที่นี่มีหนังสือที่เป็นสาระของท้องถิ่น ซึ่งหนังสือเหล่านี้จะสะท้อนในบริบทของสังคมวัฒนธรรมของที่นี่ โดยเป็นหนังสือ 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษามลายู ซึ่งทุกคนสามารถอ่านได้ ซึ่งตรงนี้คนกรุงเทพฯ ยังไม่มี