นครศรีธรรมราช - ผู้ได้รับผลกระทบภูเขาขยะ เตรียมยื่นหนังสือร้องแม่ทัพภาค 4 ซ้ำ หลังเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เลี่ยงบาลีหาญปล่อยน้ำเน่า รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สั่งห้ามสูบน้ำเน่าเข้มข้นเข้าบ่อบำบัดแล้ว
วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช หลังจากที่ชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลา และผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากภูเขาขยะเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้เข้าตรวจสอบ และเฝ้าระวังการลอบปล่อยน้ำเสียจากภูเขาขยะลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งได้ตรวจพบร่องรอยการปล่อยน้ำเน่าเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่สร้างขึ้นเพื่อบำบัดน้ำเสียชุมชนเท่านั้น โดยพบว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้เลี่ยงบาลีด้วยการสูบน้ำเน่าเสียจากบ่อน้ำเน่าเสียเข้มข้นซึ่งเป็นน้ำชะจากภูเขาขยะลงในบ่อบำบัดโดยตรง และมีการปล่อยน้ำเสียออกจากท้ายบ่อบำบัด โดยพบร่องรอยการขังของน้ำเน่าอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญจุดปล่อยน้ำเสียครั้งนี้อยู่ห่างจากกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 4 เพียงไม่ถึง 500 เมตรเท่านั้น
ภายหลังจากการตรวจพบ พล.ต.อาคม พงศ์พรหม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 ซึ่งได้รับมอบหมายจากแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เรียกประชุมนายทหารที่เกี่ยวข้องทันที และในวันพรุ่งนี้ กองบัญชาการควบคุม มทบ.41 ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมประชุมชี้แจงที่ห้องประชุมเสนาณรงค์ กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 และผู้นำชุมชนพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 โดยจะระบุถึงเหตุผลทั้งหมด รวมทั้งเหตุการณ์ลอบปล่อยน้ำเสียแบบหลบเลี่ยงที่มีการตรวจพบอีกครั้งด้วย
ผู้เกี่ยวข้องรายหนึ่ง ระบุว่า การแก้ไขปัญหาของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ล้มเหลวมาโดยตลอด การสูบน้ำเข้าบ่อบำบัดไม่ได้คำนึงถึงหลักวิชาการ ระบบรวบรวม และบำบัดน้ำเสียแห่งนี้ออกแบบเพื่อบำบัดน้ำจากชุมชนครัวเรือนเท่านั้น การสูบน้ำเสียเข้มข้นตรงเข้าไปจึงก่อให้เกิดความล้มเหลวของระบบบำบัดที่ออกแบบมาเป็นระบบผึ่งตาก แต่สิ่งที่สามารถยืนยันได้จากเหตุการณ์นี้คือ หลายปีที่ผ่านมา น้ำเน่าเสียถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะโดยรอบมาโดยตลอด เมื่อถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนน้ำเน่าจึงไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงใช้วิธีเลี่ยงบาลีด้วยการสูบเข้าบ่อบำบัดทางหนึ่งแต่ส่งออกไประบายทิ้งอีกทาง โดยให้เห็นว่าผ่านบ่อบำบัดแท้จริงแล้วไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไร
และในเรื่องเดียวกันนี้ นายสุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวผ่านสำนักข่าวไทยพีบีเอส ว่า กรณีปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยจากน้ำท่วมของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่มีปริมาณขยะสะสมกว่า 1.2 ล้านตัน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำบ่อขยะว่า การระบายน้ำเสียไปบำบัดยังระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนไม่เหมาะสม เนื่องจากน้ำเสียที่มาจากกองขยะมีค่าความสกปรกมาก 2,000-3,000 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินกว่าระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนจะรองรับได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อลิตร หากรับเข้ามาจะทำให้ระบบเสียหายได้
“ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนออกแบบให้รองรับได้เพียงบีโอดีที่ 80 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการเก็บขนขยะมูลฝอยออกจากบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อที่ 1 ออกให้หมด ปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสียทั้ง 3 บ่อ ด้วยการเสริมคันดินโดยรอบของบ่อ ติดตั้งเครื่องเติมอากาศในบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อที่ 2 และ 3 เพื่อเติมอากาศ นอกจากนี้ ต้องจัดทำรางรองรับน้ำเสียโดยรอบพื้นที่กองขยะมูลฝอยทั้งหมดคำนึงถึงการไหลตามแรงโน้มถ่วง เพื่อให้น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกองขยะมูลฝอยไหลลงสู่บ่อบำบัดน้ำเสียบ่อที่ 1
รวมทั้งขุดบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อที่ 4 (บ่อใหม่) ในพื้นที่ว่างด้านติดกับระบบบำบัดน้ำเสียรวมของเทศบาล ต้องคำนึงถึงปริมาตรน้ำเสียที่จะเกิดขึ้น และจัดทำท่อลำเลียงน้ำเสียจากบ่อที่ 3 ไปกักเก็บยังบ่อที่ 4 (บ่อใหม่) สำหรับดินที่เหลือจากการขุดบ่อใหม่ให้นำมาใช้เพื่อปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสียที่เหลือ หรือกลบทับขยะมูลฝอย ถือเป็นข้อเสนอทางเทคนิคที่ใช้เป็นมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหา โดยการดำเนินการท้องถิ่นเจ้าของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยต้องเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด
“คำแนะนำดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้มี พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2560 กำกับดูแลการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งมีกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบ ในส่วนของ คพ.เป็นหน่วยงานกำกับในเรื่องเทคนิควิชาการในการจัดการขยะมูลฝอย” รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุ