สตูล - หนุ่ม-สาว ป.โท ออกล่าฝันเนรมิต “ฟ้าใสฟาร์ม เกษตรกรธรรมชาติ ผสมผสานบ้านไม้ไผ่ปลายน้ำพอเพียง” ภายใต้แนวคิดทำชีวิตให้มันง่าย แล้วความสุขจะอยู่ตรงหน้า ตามคำสอนพ่อหลวง และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ สร้างรายได้ปีละ 2 แสน จากผลผลิตธรรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์จนเป็นเกษตรกรตัวอย่าง ใน อ.ควนโดน จ.สตูล
วันนี้ (27 ก.พ.) บนเนื้อที่ 2 ไร่ ติดชายเขาในพื้นที่หมู่ 5 ต.ควนสะตอ อ.ควนโดน จ.สตูล ซึ่งประกอบด้วย พืชผัก และพรรณไม้นานาชนิดกว่า 2,000 ประเภท ที่ปลูกอย่างผสมผสาน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
น.ส.ฟ้าใส บุญส่ง เจ้าของฟ้าใสฟาร์ม ในวัย 42 ปี ได้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ตนเองซึ่งในขณะนั้นสำเร็จการศึกษาปริญญาโท ด้านการส่งเสริมกรเกษตร จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เริ่มอาชีพการเป็นนักวิจัยอิสระ ควบคู่กับทำงานประจำ และได้ศึกษาแนวทางเกษตรธรรมชาติของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เจ้าของแนวคิดชาวญี่ปุ่น และได้เล็งเห็นว่า ปัจจุบันคนเรามีอายุเฉลี่ยที่สั้นลง เนื่องจากกินพืชผักที่มีสารพิษไปสะสมในร่างกาย จึงผันตัวมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย ก่อนจะลาออกจากงานประจำ โดยมีความตั้งใจแน่วแน่ว่ามาทำการเกษตรตามแนวทางเกษตรธรรมชาติ ซึ่งเน้นให้การเพาะปลูกพืชทุกชนิดเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น
จากนั้น ในปี 2554 ได้เข้ามาซื้อที่ต่อจากเจ้าของเดิม บนพื้นที่ 2 ไร่ และลงมือลงแรงร่วมกับ นายนิเวศ ชายฝั่ง ผู้เป็นคู่ชีวิต ซึ่งได้ลาออกจากงานประจำตำแหน่งนักพัฒนาองค์กรเอกชน มาช่วยกันปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกพืชผัก และพรรณไม้นานาชนิดเท่าที่จะหาพันธุ์มาปลูกได้ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า อ้อย ชะพลู ขมิ้น พริกขี้หนู เตยหอม กระชาย บัวบก อัญชัน กุหลาบ ตลอดจนพันธุ์ไม้พื้นเมืองอีกหลายชนิด โดยปลูกตามแนวคิดเกษตรธรรมชาติ ให้ทุกอย่างอยู่กันอย่างสมดุล เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ท่ามกลางผู้คนมองหาว่า “บ้า” แต่ก็ไม่ได้สนใจ เพราะรู้ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่
โดยต้นทุนการเพาะปลูกจะต่ำมากๆ เนื่องจากพันธุ์ก็หาได้จากท้องถิ่น ไม่ใช้ปุ๋ย และสารเคมี ทำให้ไม่มีรายจ่ายในส่วนนี้ ต่อมา มีเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาแนะนำให้ขอมาตรฐาน organic thailand จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จึงได้ยื่นคำขอไป และได้รับการตรวจสอบมาตรฐานโดยอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนเพียง 3 เดือน ก็ผ่านมาตรฐาน จนได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง
ซึ่งผลผลิตของฟาร์มในระยะแรกเริ่มจะเน้นการบริโภคเอง และแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ต่อมา เริ่มมีคนเข้ามาติดต่อขอซื้อจึงแบ่งขาย จนปัจจุบันผลผลิตบางส่วนจะนำมาวางจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกร หน้าศาลากลางจังหวัด และผลผลิตอีกจำนวนหนึ่งจะทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของฟาร์ม เช่น แชมพูสระผมจากดอกอัญชัน ชาใบหม่อน ชารางจืด สบู่ขมิ้น จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ สร้างรายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งรายได้อีกทางของฟาร์มมาจากการเพาะ และจำหน่ายพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ซึ่งบางชนิดหายาก และเป็นที่ต้องการ เช่น ยอบ้าน แคนา จำปาดะ หมากหมก ผักหวานบ้าน ผักปรัง เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้ยึดถือ และน้อมนำเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวปฏิบัติเจริญรอยตามพระองค์ ซึ่งทุกอย่างตามแนวพระราชดำรินั้นสามารถทำได้ทันที เน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง จนในขณะนี้ฟ้าใสฟาร์ม เป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง และด้านเกษตรอินทรีย์ของผู้สนใจทั่วไป เยาวชน ชุมชนต่างๆ ติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานอย่างไม่ขาดสาย และมีความตั้งใจจะพัฒนา “ฟ้าใสฟาร์ม” ให้มีหลักสูตรเรียนรู้ด้านการพึ่งพาตนเอง และด้านเกษตรอินทรีย์ ให้บุคคลที่สนใจเข้ามาฝึกอบรมได้ต่อไป
น.ส.ฟ้าใส บุญส่ง เจ้าของฟ้าใสฟาร์ม บอกว่า ประสบความสำเร็จแล้วตั้งแต่ลงมือทำ เพราะตนกับแฟนทำด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเลือกที่จะใช้ชีวิตตามแนวคิดของ จอน-จัน-ได คือ “ทำชีวิตให้มันง่าย หากมันยากแสดงว่ามันผิด” และเป็นความโชคดีที่ผลิตผลที่ออกจากฟาร์มนำไปจำหน่ายหมดทุกครั้ง จากการทำบัญชีครัวเรือนทำให้ฟ้าใสฟาร์ม พบว่า มีรายได้ต่อปี 200,000 บาท ซึ่งก็พอใจ และพร้อมจะเผยแพร่ให้แก่คนในชุมชน และเปิดฟาร์มให้เป็นที่ศึกษาดูงาน
นายไชยพงค์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเป็นต้นแบบของเกษตรกรอินทรีย์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาร์ทยังฟาร์มเมอร์ เกษตรกรรุ่นใหม่ตัวอย่าง ที่ประสบความสำเร็จจากความชอบส่วนตัวมาถึงขั้นตอนการเรียนรู้อย่างจริงจัง จนประสบความสำเร็จ ซึ่งตอบโจทย์ยุคสมัยของการบริโภคพืชผัก และสินค้าปลอดภัยสารเคมี