ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
------------------------------------------------------------------------------------------------
“เขื่อนท่าแซะ” จ.ชุมพร ถูกปลุกผีขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย?!
โดยในคืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 16.30 น. ทหารได้เข้ามาเชิญตัวแกนนำชาวบานคือ นายพิชัย จันทร์ช่วง และนางวัชรี จันทร์ช่วง และมารดา ไปในค่ายชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แต่ชาวบ้านต่อรองว่าจะไปพบตอนเช้าของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เนื่องจากหากไปถึงก็เป็นยามวิกาล
ต่อมา ในเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ชาวบ้านก็ไปพบในค่ายชุมพรเขตอุดมศักดิ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ และมีการเรียกร้องให้ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบเข้าไปในค่ายทหาร และมีการกดันให้ชาวบ้านเสียสละ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิ
แถมในวันเดียวกัน ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารลงไปหมู่บ้าน รวมทั้งมีการปิดล้อมไม่ให้ชาวบ้านออกไปยื่นหนังสือให้แก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เนื่องด้วยการสร้างเขื่อนท่าแซะ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ประเด็นจึงไม่ใช่อยู่ที่ชาวบ้านต้อง “เสียสละ” หรือ “ไม่เสียสละ” แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ต้องพิจารณา
ต่อไปนี้คือ คำถามบางแง่มุมที่อยากให้ผู้ที่อยากได้เขื่อนแห่งนี้ ช่วยตอบให้ชัดๆ ก่อนที่จะเรียกร้องให้ชาวบ้านเสียสละ
1.EIA เขื่อนแห่งนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2536 และหมดอายุไปแล้ว อีกทั้งขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว หากคำนวณผลกระทบ เอาแค่สวนยางพารา ขณะนั้นมีราคากิโลกรัมละไม่กี่บาท แต่วันนี้ 80 บาท/กก. เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วที่นี่ไม่มีการปลูกทุเรียน แต่วันนี้มีการปลูกทุเรียนทั่วพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ราคาทุเรียนกิโลกรัมละ 150 บาท
ดังนั้น ความคุ้มทุนของเขื่อน (น้ำที่ได้ไปทำการผลิตทางชลประทานกับผลกระทบ) ก็เปลี่ยนไปแล้ว การอยากได้เขื่อน เพราะอยากได้ จึงไม่เพียงพอ แต่ต้องศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้วย เพราะเขื่อนต้องสร้างจากภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินในกระเป๋าของคนอยากได้เขื่อน
คำถามก็คือ ก่อนอยากได้เขื่อน มีการศึกษาเพื่อทบทวนความคุ้มค่าของเขื่อนหรือไม่? และมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่?
2.สันเขื่อนท่าแซะ จะสร้างบนรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวระนอง การศึกษาทางธรณีวิทยาทำแล้วหรือยัง หากทำแล้ว จะเอาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาคำนวณต้นทุนหรือไม่ และมีการประเมินความเสี่ยงเขื่อนวิบัติจากแผ่นดินไหวหรือไม่
หากยังไม่ทำ หรือทำแบบยังไงก็ได้ หากเกิดเขื่อนพัง ใครจะรับผิดชอบ?
3.เขื่อนท่าแซะ จะทำให้น้ำท่วมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรมหลวงชุมพร ประมาณ 2,400 ไร่ ด้านหนึ่งรัฐได้ทำการทวงคืนผืนป่าจากชาวบ้านที่อยู่มาก่อน แต่อีกด้านหนึ่งกลับจะนำป่าสมบูรณ์ไปสร้างเขื่อน
นโยบายที่อีหลักอีเหลื่อนี้ ช่วยตอบคำถามสังคมหน่อยว่าคืออะไรกัน?
4.พื้นที่ใต้เขื่อนท่าแซะ ไม่ได้ต้องการระบบชลประทาน เพราะเป็นพื้นที่สวน และเป็นลูกลอน ไม่ใช่ที่ราบ แต่โครงการนี้ก็ยังอ้างว่าเพื่อการชลประทาน
คำถามก็คือ เขื่อนแห่งนี้จะสร้างขึ้นเพื่อการชลประทานจริงหรือ หรือว่าแท้จริงแล้วจะเอาน้ำไปรองรับอุตสาหกรรมที่จะสร้างในอนาคตกันแน่?
5.ชาวบ้านจะถูกอพยพกว่า 500 ครอบครัว ซึ่งมีทั้งคนไทย และคนไทยพลัดถิ่น
คนเหล่านี้ถูกเรียกร้องให้เสียสละ เพื่อใคร? เอาสิทธิอะไรมาเรียกร้องชาวบ้าน? แล้วสิทธิของชาวบ้านมีการเคารพกันบ้างหรือไม่? ทั้งนี้ ยังไม่ได้พูดถึงว่าชาวบ้านจะถูกอพยพไปที่ไหน
6.การตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอย่างเช่น เขื่อน ต้องใช้เงินภาษีประชาชน มีผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อม
ที่ตัดสินใจกันง่ายๆ คือ ใครมีอำนาจก็ชี้นิ้วเอาได้ หรือว่าจำเป็นต้องใช้ความรู้อย่างรอบด้าน?
7.รู้หรือไม่ว่า ชาวบ้านมีสิทธิในการตัดสินใจว่า เอา หรือไม่เอาเขื่อนด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะเรียกร้องให้ชาวบ้านเสียสละ
เคยตระหนักถึงสิทธิของชาวบ้านหรือไม่?