xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวคิด “อาคารเรียนลอยน้ำ ปากบางกลมโมเดล” นวัตกรรมรับมือน้ำท่วมในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เผยแบบอาคารเรียนลอยน้ำ โรงเรียนบ้านปากบางกลม อ.ชะอวด สถาปนิกเผยเป็นอาคารที่ใช้งบประมาณไม่สูง โครงสร้างเหมือนอาคารทั่วไป แตกต่างที่สามารถลอยขึ้น-ลง เหนือผิวน้ำได้ในกรณีน้ำท่วม โดยมีเสายึดไว้ไม่ให้อาคารถูกกระแสน้ำพัดพา ด้าน ผอ.โรงเรียนเผยเตรียมนำเข้าที่ประชุมกรรมการโรงเรียน หากได้สร้างจะถือเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นที่ประสบปัญหาเดียวกันนำไปพิจารณาเพื่อรับมือต่อปัญหาน้ำท่วมในอนาคต
 

 
วันนี้ (16 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุกฤษฏ์ หนูจุ้ย สถาปนิกวิชาชีพบริษัท UK-N Design and drawing ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอาคารเรียนหลังใหม่ให้แก่โรงเรียนบ้านปากบางกลม ม.4 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี และได้รับความเสียหายอย่างมากจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
 

 
โดย นายอุกฤษฏ์ เปิดเผย “MGR Online ภาคใต้” ว่า โครงการอาคารเรียนโรงเรียนบ้านปากบางกลม อ.ชะอวด นครศรีธรรมราช ใช้หลักการเดียวกับแพ หรือร้านอาหารลอยน้ำ มีขายึดตอม่อ เลื่อนปรับระดับขึ้นลงตามระดับน้ำได้
 

 
สำหรับรายการวัสดุประกอบการออกแบบ ขนาดอาคาร 42x10 เมตร ทางเดินด้านหน้ากว้าง 2 เมตรด้านข้าง และด้านหลังกว้าง 1 เมตร 7 ห้องเรียน ขนาดแต่ละห้อง 6x10 เมตรสูงจากพื้น 0.40 เมตร พื้นที่ทั้งหมด 420 ตารางเมตร
 

 
ฐานราก ผนัง พื้นบางส่วนเป็นคอนกรีตโฟม รองฐานคานด้วยแผ่นโฟมขนาด 12"x6 เมตร อาคารเรียนรองพื้นด้วยโฟม โครงสร้างผนังเบาลอยน้ำได้ โครงผนัง พื้น เป็นโครงเคร่าเหล็กกัลป์วาไนส์ กรุด้วยแผ่น viva Board
 

 
โครงสร้างหลังคา โครงเคร่าเหล็ก กัลป์วาไนส์มุงด้วยกระเบื้องไวนิล ฝ้าสูง 3.5 เมตรแผ่น Smart Board งบประมาณ ราคา 2-2.5 ล้านบาท/ 1 อาคาร โคมไฟฟ้า LED ม้านั่ง และวางรองเท้าด้านหน้าห้อง viva Board ประตูหน้าต่างอะลูมีเนียมกระจกใส ภายในห้องเรียน พัดลมโคจร ชุดกระดานดำ
 

 
“แนวความคิดนี้มาจากคำพูด ผอ.ที่ว่า โรงเรียนน้ำท่วมทุกปี แวบแรกในสมอง เมื่อเป็นอย่างนี้ทุกปีมันก็เป็นเรื่องปกติหรือเปล่า แต่มีคำที่ได้ยินหลายท้องที่ที่น้ำท่วมว่าปีนี้รุนแรงมาก คือน้ำสูงและท่วมหลายครั้ง”

นายอุกฤษฏ์ กล่าวและว่า ก็เลยคิดไปถึงอาคารพวกแพลอยน้ำ และโป๊ะท่าเรือที่สามารถอยู่ได้ในทุกสภาวะน้ำขึ้นลง นำมาปรับใช้กับงานที่พวกเรากำลังหาหนทางช่วยเหลือ ซึ่งสัมพันธ์กับผลงานบ้านลอยน้ำต่างในประเทศ และบทความ ทฤษฎีต่างๆที่ นำเสนอผ่านสื่อมาแล้ว แต่ไม่ค่อยมีผลงานที่สร้างจริงๆ”
 

 
สำหรับรูปแบบของอาคาร วัสดุ หลังใหม่จะเป็นงานสมัยปัจจุบัน รองรับปัญหาน้ำท่วม (รวมทั้งอาจจะต้องมีทุ่นลอยน้ำสำหรับทางเดินเข้ามาในอาคารในฤดูน้ำท่วม) ก่อสร้างขึ้นลงได้โดยล็อกอาคารไว้กับราวยึดกันน้ำพัดพา ซึ่งแตกต่างกับอาคารของกระทรวงศึกษา แบบหลังเก่าที่เป็นไม้ และก่อสร้างทั่วไปในทุกๆ โรงเรียนประถมศึกษา โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม

“ส่วนมากงานรูปแบบนี้จะมีแต่บ้านพักอาศัย แต่อาคารที่เป็นสาธารณะ รูปแบบอาคารเรียนน่าจะยังไม่มีคนทำ”
 

 
ด้าน นางขวัญจิตต์ เนียมเกตุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบางกลม กล่าวว่า โดยส่วนตัวมีความสนใจในแนวคิดนี้ เพราะจากสภาพน้ำท่วมปัจจุบันพบว่า อาคารบางแห่ง หรือบ้านพักบางหลังใน อ.ชะอวด แม้จะเป็นบ้านยกพื้นใช้เสาสูงแล้วแต่บางหลังก็ยังไม่รอดพ้นจากน้ำท่วม ซึ่งสำหรับโรงเรียนแล้วอาคารแบบนี้น่าจะตอบโจทย์การรับมือต่อภัยพิบัติในอนาคตได้ดีที่สุด

“ดูแล้วงบประมาณก็ไม่แพงนัก แต่ก็ต้องพิจารณาว่าจะมีหน่วยงานไหนสนับสนุนได้บ้าง เพราะหากมีอาคารแบบนี้ที่อยู่กับน้ำได้ ประชาชนก็จะสามารถมาพึ่งพาอาศัยโรงเรียนได้ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมในปีต่อๆ ไป แต่ทั้งนี้ จะต้องนำรายละเอียดทั้งหมดเข้าไปคุยกับคณะกรรมการโรงเรียนเพื่อขอความเห็นจากตัวแทนชาวบ้านด้วยว่า พวกเขาคิดอย่างไร หากทำได้ก็จะถือเป็นต้นแบบเป็นโมเดลให้โรงเรียนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันใช้เป็นกรณีศึกษาได้” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบางกลม กล่าว
 
อาคารลอยน้ำในต่างประเทศ (ภาพจาก kapook.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น