xs
xsm
sm
md
lg

แนวคิดและทฤษฎีการสื่อสารทางการเมือง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
---------------------------------------------------------------------------------------- 
 
การสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) เป็นศาสตร์ที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ  เน้นในเรื่องวาทวิทยา (rtetoric)  การเมืองและจริยธรรม  เป็นการนำการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) มาผสมผสานกับเนื้อหาทางการเมืองและการสื่อสารเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางการเมือง โดยรูปแบบของการสื่อสารทางการเมือง  เป็นแนวทางการศึกษาที่ตระหนักถึงการสื่อสาร ในฐานะเครื่องมือกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง โดยอาศัยการสื่อสารสร้างแนวทางการยอมรับในกลุ่มประชาชนผู้รับสาร 
 
การสื่อสารทางการเมือง  เป็นกระบวนการทางการเมืองที่เกี่ยวข้องต่อการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง  ทัศนะ และความคิดเห็น  ตลอดจนประสบการณ์ทางการเมืองระหว่างบุคคล  เป็นกระบวนการพิเศษที่ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคมการเมือง และทำให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมการเมือง  เป็นกิจกรรมที่แพร่หลายทั่วไป (วอร์เรน  เค  จี และคณะ/Agree et al…1976.p.4)
 
การสื่อสารทางการเมือง  คือ กิจกรรมที่เผยแพร่ทั่วไป  เป็นการทำหน้าที่ทั้งหลายของระบบการเมือง  กระบวนการ  สังคมประกิต  การสร้างโครงข่ายผลประโยชน์  การประสานประโยชน์  การสร้างกฎ  การประยุกต์  ใช้กฎและการปรับเปลี่ยนกฎ  ล้วนดำเนินไปโดยการสื่อสารเป็นเครื่องมือ (อัลมอนด์ และโคลแมน/Almond  and  Coleman,1960)
 
การสื่อสารทางการเมือง  หมายถึง  การถ่ายทอดข่าวสารที่เกี่ยวกับการเมือง จากส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ไปยังอีกส่วนหนึ่งของระบบการเมือง และเป็นการถ่ายทอดระหว่างระบบสังคมกับระบบการเมือง (ไมเคิล  รัช และฟิลลิป  อัลทอฟฟ์/Rush  and  Altoff,1971,p.160)
 
การสื่อสารทางการเมือง  มีลักษณะเป็นระบบของการแพร่ข่าวสารทางการเมือง ไปยังสมาชิกของการเมือง  การสื่อสารทางการเมืองจึงเป็นแบบแผน หรือกระบวนการแพร่ข่าวทางการเมือง ระหว่างสมาชิกกับหน่วยต่างๆ ในระบบการเมือง หรือมีบทบาทเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาล โดยเป็นช่องทางในการเสนอข่าวสารข้อมูลทางการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ และนโยบายของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับรู้  ขณะเดียวกัน ก็เป็นกระบวนการในการนำเอาข้อเรียกร้อง และความต้องการของประชาชนไปสู่รัฐบาล ที่จะกำหนดนโยบายและตัดสินใจให้สอดคล้อง และสนองตอบความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น (ชัฟฟี/Shaffee,1975,p.96)
 
การสื่อสารทางการเมือง  ในความหมายกว้าง  หมายถึง  กิจกรรมการสื่อสารที่มนุษย์กระทำ หรือเกิดขึ้นนอกบ้านเรือนของตนเอง  การยื่นข้อเรียกร้องระหว่างประเทศ  การกล่าวคำปราศรัยของนักการเมือง  ความหมายเชิงแคบ  หมายถึง  กิจกรรมใดๆ ของสถาบันเฉพาะ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสาร  ความคิดและทัศนคติอันเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง  การศึกษาการสื่อสารทางการเมืองส่วนใหญ่มักจะมองการสื่อสารทางการเมืองโดยนัยแห่งความหมายนี้ (โพล์/Pool,1973,p.5)
 
การสื่อสารทางการเมืองมีคุณลักษณะ  4  ประการ  ประกอบด้วย 1.การสื่อสารทุกรูปแบบที่ดำเนินโดยนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องทางการเมือง  2.โดยมีวัตถุประสงค์ที่เจาะจง  3.การสื่อสารที่สื่อมวลชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่งถึงนักการเมือง  4.กิจกรรมการสื่อสารที่สื่อมวลชนนำเสนอเกี่ยวกับการเมือง
 
การสื่อสารทางการเมือง  ประกอบด้วย  3  ส่วน  1.องค์กรทางการเมือง (political  organization)  2.สื่อ (media)  3.ประชาชน (citizens) หรือผู้รับสาร (audience)  (แมคแนร์/MacNair,1999,p.5)
 
กระบวนการสื่อสาร  ประกอบด้วย  1.ผู้ส่งสาร : ประกอบด้วย  2  กลุ่มคือแหล่งข่าว  เช่น  พรรคการเมือง  รัฐบาล  ข้าราชการ  กลุ่มผลประโยชน์  กลุ่มผลักดันต่างๆ  และอีกกลุ่มหนึ่งคือ สื่อมวลชน  2.สาร : เนื้อหาของข่าวสารซึ่งเป็นเนื้อหาทางการเมือง  สาธารณะ  เช่น  การเลือกตั้ง  การแก้ไขกฎหมาย  3.สื่อ : ช่องทางในการสื่อสารและการเผยแพร่ข่าวสาร  ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ  4.ผู้รับสาร : เป้าหมายในการสื่อสาร  5.ผล : ภาพลักษณ์ของการสื่อสารทางการเมืองในสายตาของบุคคลทั่วไป
 
หน้าที่ของการสื่อสารทางการเมือง  1.สร้างทัศนคติทางการเมือง  2.สร้างความสนใจในการเมือง  3.สร้างความรู้และความเข้าใจทางการเมือง  4.สร้างบทบาททางการเมือง 
 
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นมาหลายศตวรรษแล้ว  แต่การสื่อสารทางการเมืองในสังคมปัจจุบัน  โดยเฉพาะในสังคมไทยยังคงมีลักษณะเหมือนสมัยกรีกโบราณ  คือ  การใช้วาทวิทยา  การโฆษณาชวนเชื่อผสมผสานในการสื่อสารเพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเมือง  และการสื่อสารทางการเมืองยังทำหน้าที่สร้างทัศนคติทางการเมืองที่คับแคบ ในรูปแบบวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ-ไพร่ฟ้า หรือไพร่ฟ้า-มีส่วนร่วม  สร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมืองแบบอำนาจนิยม  “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ข้ามไม่พ้นการเมืองแบบน้ำเน่า  การทุจริตคอร์รัปชัน  การสมคบคิดระหว่างผู้มีอำนาจกับนายทุนแย่งชิงทรัพยากรงบประมาณ และทรัพยากรธรรมชาติจากประชาชน  โดยอ้าง “ทำเพื่อชาติ” หรือ “เพื่อความมั่นคง” เป็นสำคัญ 
 
ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนายังต้องเผชิญต่อชะตากรรมวิกฤตความยากจน  วิกฤตสิ่งแวดล้อม และวิกฤตวัฒนธรรมอีกยาวนาน  ตราบเท่าที่การสื่อสารทางการเมืองยังเป็นแบบที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
กำลังโหลดความคิดเห็น