xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายประชาชน 5 จว.ใต้ ยันชัด “คนภาคใต้ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” จี้การพัฒนาต้องตอบโจทย์สันติภาพ-สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จัดหนักจัดเต็ม! เครือข่ายภาคประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยันชัด “คนภาคใต้ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” หลังเดินทางร่วมเวทีปราศรัยในหัวข้อ “การพัฒนาต้องตอบโจทย์สันติภาพ และสิ่งแวดล้อม ร่วมคิดร่วมทำร่วมตัดสินใจ” ที่สนามชั่วคราวพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนบางหลิง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (12 ก.พ.) ที่สนามชั่วคราว พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนบางหลิง หมู่ 4 บ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เครือข่าย PERMATAMAS และเครือข่ายภาคประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย นายดิเรก เหมนคร ในฐานะผู้ประสานเครือข่ายเปอร์มาตามาส และคณะ รวมทั้งวิทยากรจากหลากหลายฝ่าย ได้ร่วมขึ้นมาปราศรัยบนเวทีในหัวข้อ “การพัฒนาต้องตอบโจทย์สันติภาพ และสิ่งแวดล้อม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ” ในมิติด้านการพัฒนาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต โดยมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

โดยทางเครือข่ายภาคประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ และขอให้รับฟังเสียงของประชาชนที่เป็นห่วงเรื่องผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต รวมทั้งเป็นภัยแทรกซ้อนในพื้นที่ความมั่นคง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังชายแดนภาคใต้อีกด้วย
 

 
นางลม้าย มานะการ NGO ที่ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ มา 25 ปี กล่าวว่า มีเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก ซึ่งเป็นเครือข่ายจากชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านที่แม่เมาะ เวลาเข้าไปเยี่ยม ชาวบ้านจะวิ่งไปหาถังออกซิเจนเพื่อหายใจ ซึ่งก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ารู้สึกอย่างไร เคยฟังบทเพลงหนึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาบอกว่า ต่อไปนี้สังคมในประเทศจะต้องซื้ออากาศหายใจ ไม่ทันสิ้นชีวิตของเรา ปรากฏว่า พี่น้องที่แม่เมาะ หรือเครือข่ายเจ้าของอุตสาหกรรมหนักใน จ.ระยอง กลับต้องซื้ออากาศหายใจจากถังออกซิเจนกันแล้ว ซึ่งมันเร็วมาก

นางลม้าย ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นไม่บ่อย กับการที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาบอกว่า “ต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร” เมื่อ 15 ปีที่แล้ว พี่น้องที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ต้องต่อสู้ในเรื่องไม่ให้มีโรงงานไฟฟ้า สิ่งที่เห็นจากเหตุการณ์นั้นก็พบว่า เกิดความแตกแยกของพี่น้องที่ อ.จะนะ อย่างน้อยก็ 2 ฝ่าย คือ มีชาวบ้านที่ออกมาแสดงความเห็นด้วยต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น และมีพี่น้องอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาคัดค้าน และมันน่าเศร้ามากที่เห็นว่าตอนที่ไม่มีโครงการนี้ ชาวบ้านรักกันดี เป็นพี่น้องกัน แต่ตอนนี้เมื่อโครงการเข้ามากลับทำให้พี่น้องต้องทะเลาะกัน และมีปัญหากันในที่สุด

นางลม้าย กล่าวทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ที่ผ่านมา ถูกกล่าวหามาตลอดว่า NGO อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่ NGO มีหน้าที่เป็นเพื่อนของพี่น้อง เพราะพี่น้องที่นี่จำเป็นต้องมีโอกาสในการเรียกร้อง เมื่อได้ยินพี่น้องออกมาส่งเสียงว่า ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็เลยต้องลงมาดูในพื้นที่ เอาหัวใจมาดู และพบว่าหัวใจของพี่น้องที่นี่บริสุทธิ์ ชาวบ้านที่นี่ไม่ต้องการทำลายทรัพยากรอันใสสะอาด อากาศอันบริสุทธิ์ ปลา อาหารทะเลที่สะอาด อร่อย สด เพราะฉะนั้นขอย้ำเลยว่า พี่น้องที่นี่ไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง ชาวบ้านสู้เพราะชาวบ้านหวงแหนทรัพยากรของพวกเขา
 

 
ด้านเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กล่าวว่า ในฐานะที่พวกเราเป็นเครือข่ายสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชน พร้อมที่จะมาร่วมกันส่งแรงใจมาบอกแก่พี่น้องว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำนั้นไม่ใช่แค่การให้พวกเราที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันต้องเดือดร้อน ที่ต้องโยกย้าย และถูกอพยพ ในขณะเดียวกัน พี่น้องชาวเหมืองแร่ที่อยู่รอบชุมชนเหมืองแร่ในประเทศอินโดนีเซีย ก็ต้องโยกย้ายเช่นกัน ซึ่งเราก็ไม่รู้จัก แต่เราอยู่ในฟ้าเดียวกัน ทะเลเดียวกัน นี่เป็นประเด็นสำคัญ จึงคิดว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน อาจจะต้องกลับมาฟังว่า พี่น้องประชาชนกำลังเดือดร้อนอยู่ในพื้นที่คิดอะไร และพวกเราเป็นคนสงขลา คนภาคใต้ เราคิดอย่างไรเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

การแสดงจุดยืนตรงนี้มันชัดเจน ในเรื่องกรณีของโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินว่า เราไม่เอาถ่านหิน และกรณีเรื่องข้อเสนอ เรื่องของพลังงาน ก็คุยกันชัดเจนแล้วว่า เครือข่ายพวกเราได้ร่วมกันในนามภาคใต้เมื่อ 2 ปีก่อน โดยใช้ชื่อร่วมกันในนามของขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ทิศทางของพลังงานไทยต้องมีทางออกแน่ ที่ไม่ใช่แบบเดิมๆ ที่ทำให้คนยากคนจน และพี่น้องประชาชนในส่วนที่อยู่ใกล้ ต้องถูกผลักภาระให้เป็นผู้จำยอม ต้องถูกเป็นผู้เสียสละ

และในวันนี้ก็มีเอกสารอยู่ 2 ชิ้น ที่คิดว่าสำคัญ เป็นเอกสารการศึกษาในเวที ค.1 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หน้า 1-9 บอกว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของพื้นที่ภาคใต้ในปี 2557 จ.สงขลา สูงที่สุด 481 เมกะวัตต์ ในขณะที่ จ.สงขลา มีการใช้พลังงานก๊าซ ที่ อ.จะนะ จำนวน 2 โรง ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ 1,500 เมกะวัตต์ เราใช้ไฟฟ้า 480 เมกะวัตต์ แต่ที่ อ.จะนะ ก็ผลิตได้อีกถึง 1,500 เมกะวัตต์ แล้วทำไมต้องสร้างที่ อ.เทพา อีกสูงถึง 2,200 เมกะวัต นายกรัฐมนตรี โจทย์เดียวก็ขอให้ตอบให้ได้ ฟังข้อมูลให้ชัด และอย่าพูดมั่วๆ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็พูดโดยไม่ได้เอาข้อมูลมาพูด ซึ่งเป็นข้อมูลของ กฟผ.ด้วย
 

 
ในส่วนของเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราพึงมี ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของปี 2557 ที่นายกฯ เป็นคนยกร่าง อยากให้ไปดูในมาตรา 4 ที่เขียนเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาปวงชนชาวไทยที่ได้รับ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรามีสิทธิจัดเวทีแบบนี้ เรามีสิทธิพูดคุยเอาข้อมูลความจริงมาพูดคุยกัน นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ นายกฯ ไม่เคยฟังพวกเราเลย

“อีกประเด็นข่าวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บริษัท กฟผ. อินเตอร์ ลงทุนซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ในวงเงิน 1.17 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าเท่าตัวของถ่านหินที่นั่น ก่อนหน้านี้ นายกฯ ไปเซ็นสัญญาปารีสว่าจะลดภาวะโลกร้อน แต่กลับมาอนุมัติการสร้างถ่านหินในบ้านเรา ทำไมไม่อนุมัติที่กรุงเทพฯ” นายเอกชัย กล่าว

ขณะที่บรรยากาศในสนามชุมนุมก็เต็มไปด้วยประชาชนจาก จ.ปัตตานี สงขลา สตูล และจังหวัดใกล้เคียง ได้มีการถือธงสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อแสดงจุดยืนว่า “คนภาคใต้ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน”

จากนั้นได้มีการร่วมกันละหมาดฮายัต บริเวณกลางสนามเพื่อขอพรต่อพระเจ้า โดยการละหมาดฮายัต หมายถึง การต่อสู้แบบสันติสุข สันติวิธีแบบอิสลาม และร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ในหัวข้อ “การพัฒนาต้องตอบโจทย์ ประชาชนต้องร่วมตัดสินใจ” เพื่อให้รัฐบาลรับรู้ และยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.เทพา จ.สงขลา ด้วย
 



กำลังโหลดความคิดเห็น