พังงา - รองนายกฯ ลงเกาะหมากน้อย จ.พังงา ส่งมอบงานซ่อมแซมอาคารเรียน พร้อมเร่งแก้ปัญหาโรงเรียนขาดแคลนไฟฟ้า และบุคลากรครู
วันนี้ (11 ก.พ.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายสมรักษ์ ถวาย ผอ.สพป.พังงา (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา) หัวหน้าส่วนราชการ และคณะเดินทางลงพื้นที่โรงเรียนเกาะหมากน้อย หมู่ 4 ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา เพื่อส่งมอบงานซ่อมแซมอาคารเรียน ตามโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนักเรียนในโรงเรียนที่ด้อยโอกาส โดยมี นางนิลมณี ศรีม่วง ผอ.โรงเรียนเกาะหมากน้อย ให้การต้อนรับ ทางรองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบโครงการ พร้อมทุนการศึกษา ตู้ยาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา โดยมี นายสัญชัย จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทมาร์ซัน จำกัด สนับสนุนให้แก่ทางโรงเรียน นอกจากนี้ ยังชมนิทรรศการ และปัญหาอุปสรรคของโรงเรียนเกาะหมากน้อย พบว่า ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2548 บนเนื้อที่ 32 ไร่ 2 งาน 13.9 ตารางวา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียน จำนวน 260 คน บุคลากรครู จำนวน 21 คน
ทาง นางนิลมณี ศรีม่วง ผอ.โรงเรียนเกาะหมากน้อย กล่าวว่า ปัญหาอุปสรรคที่ทางโรงเรียนเกาะหมากน้อย พบคือ ที่ผ่านมาบุคลากรครูมีไม่ครบชั้น ครูที่ครบเกณฑ์ย้ายได้ขอย้ายกลับภูมิลำเนาจึงส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน สาเหตุจากพื้นที่โรงเรียนอยู่บนเกาะ การเดินทางไม่สะดวกห่างไกลจากภูมิลำเนา ปัญหาอีกเรื่อง คือ ในเกาะหมากน้อย ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ และเครื่องปั่นไฟ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าเดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท โดยเฉพาะในช่วงฝนตกโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ทำให้ทางโรงเรียนเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ส่วนกลางคืนนั้น ทางครูได้นำเงินเดือนมาแบ่งจ่ายเป็นค่ากระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงเรียน
ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับปัญหาไฟฟ้าในเกาะหมากน้อย ได้แก้ปัญหาเบื้องต้น โดยการนำโครงการโซลาร์เซลล์ มาใช้ภายในโรงเรียนที่อยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ พร้อมกับมอบให้ทางจังหวัดพังงา และ อบต.เกาะปันหยี ได้เสนอโครงการเคเบิลใต้น้ำ หรือแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่อยู่ใกล้กับเกาะหมากน้อย เชื่อมโยงให้ถึงเกาะหมากน้อย ส่วนปัญหากรณีบุคลากรทางการศึกษาได้มอบหมายให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา พิจารณาสร้างครูที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ จ้างบุคลากรการศึกษา และร่วมมือกับภาคเอกชนให้ช่วยเหลือทางการศึกษาในพื้นที่ต่อไป