xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาโยงหวนกลับสืบทอดการละเล่น “ลูกลม” ที่ยังหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาว อ.นาโยง จ.ตรัง และใกล้เคียงร่วมกันเล่น “ลูกลม” ประเพณีเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงที่เดียวในไทย บริเวณลานกว้างกลางท้องทุ่งนาหน้าถ้ำเขาช้างหาย ซึ่งจะเล่นไปจนสิ้นสุดเทศกาลแห่งความรัก

วันนี้ (9 ก.พ.) ชาวบ้านในหลายตำบลของ อ.นาโยง จ.ตรัง รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง เช่น นาหมื่นศรี นาพละ นาโยงใต้ ได้มารวมกันบริเวณลานกว้างกลางท้องทุ่งนาหน้าถ้ำเขาช้างหาย อีกหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เพื่อร่วมกันเล่น และโชว์ลูกลม ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน และยังหลงเหลืออยู่เพียงที่เดียวในประเทศไทย

เนื่องจากเกี่ยวพันกับวิถีนาที่เชื่อกันว่า “ลูกลม” เป็นลูกของพระพาย และพระพายเป็นเทพแห่งธรรมชาติ โดยวันหนึ่งในฤดูเก็บเกี่ยว พระพายได้ให้ลูกลมมาทำหน้าที่ดูแลนาข้าว เพื่อมิให้นกกากิน จนเป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์ด้วยการนำไม้ไผ่มาประดิษฐ์คล้ายๆ กับกังหันวิดน้ำ และเมื่อโดนลมก็จะมีเสียงดัง ทำให้นกกาไม่กล้ามากินข้าวในนาอีกต่อไป
 

 
เมื่อความดังกล่าวทราบถึงเทวดา จึงสั่งให้นำเรื่องลูกลมมาบอกกล่าวแก่มนุษย์ เพราะเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นโดยใช้ธรรมชาติ และเปรียบเสมือนกับหุ่นไล่กาของชาวภาคกลาง แต่ต่างกันตรงที่ลูกลม มีเสียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะหลังมาการใช้ลูกลม เพื่อไล่นกกาค่อยๆ สูญหายไป ตามสภาพความเจริญของบ้านเมือง และท้องทุ่งนาที่หดหาย

ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงพยายามที่จะพลิกฟื้นวัฒนธรรมท้องถิ่นดังกล่าวให้คืนกลับมา และมุ่งหวังให้ชุมชนเป็นสื่อสนับสนุน เพื่อส่งเสริมเป็นการท่องเที่ยวย้อนยุคในมิติต่างๆ เช่น มิติการอนุรักษ์เพื่อการเรียนรู้ หรือมิติของการสร้างรายได้ ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากหันมาเล่นลูกลมกันอย่างแพร่หลายอีกครั้งในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว
 

 
ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 ประเภท คือ ลูกลมขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ โดยบางดอก หรือบางอันต้องใช้ระยะเวลาในการทำนานนับเดือน ด้วยความละเอียด เพื่อให้ลูกลม ออกมาสวยงาม และมีเสียงไพเราะมากที่สุด โดยเฉพาะตัวดอกซึ่งหมุนจนเกิดเสียงดังนั้น เป็นการผสมผสานกันของภูมิปัญญาพื้นบ้าน ระหว่างท่อนไม้ไผ่ที่อุดปากกระบอกด้วยขี้ชัน กับแผ่นไม้กระท้อน หรือไม้แคนา ที่มีความเบา

พร้อมกับการตกแต่งส่วนหางด้วยทางหวายน้ำ และเครื่องทรงอื่นๆ ให้เกิดความสวยงาม ก่อนนำไปติดตั้งบนไม้ไผ่สูง บนต้นไม้ หรือยอดเขาสูง เพื่อให้ลมพัดลูกลมจนเกิดเสียงดังลั่นไปทั่วทั้งท้องทุ่งนา ซึ่งในปี 2560 ชาวชุมชนนาโยง รวมทั้งบริเวณใกล้เคียง ยังคงการละเล่น และโชว์ลูกลม ไปจนสิ้นสุดเทศกาลแห่งความรัก หรือวาเลนไทน์ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้
 

กำลังโหลดความคิดเห็น