xs
xsm
sm
md
lg

เหตุใดจึงปล่อยให้ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช พรุนไปด้วยเหมือง?! / ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพเหมืองแห่งหนึ่งบนเขานัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหลวงในเขต อ.นบพิตำ จ.นครฯ ภาพจาก facebook ของเหมืองแร่แห่งหนึ่ง
 
ดร.ไชยณรงค์  เศรษฐเชื้อ
 
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
------------------------------------------------------------------------------------------------
 
 
เขาหลวง และเขานัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหลวงในเขต อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของคลองกลายที่ไหลงทะเลที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
 
การทำเหมืองที่นี่มีมาตั้งแต่ปี 2510 และหลังปี 2538 มีการเปลี่ยนมือ และขอประทานบัตรเพิ่มมากเรื่อยๆ
 
เนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยาที่ง่ายต่อการเกิดดินโคลนถล่ม ในปี 2554 กรมทรัพยากรธรณีจึงได้มีประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม แต่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ยังคงมีการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ต่อไป
 
การทำเหมืองในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงจากดินโคลนถล่มหนักมากยิ่งขึ้นเป็นหลายเท่า เพราะการทำเหมืองได้มีการทำลายป่า และเปิดหน้าดิน มีการระเบิดหินเพื่อเอาแร่ ซึ่งทำลายความมั่นคงของธรณี
 
ในภาพเหมืองแร่เฟลด์สปาร์ในเขต ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ การทำเหมืองบนเขาแบบนี้นึกภาพออกไหมครับว่า เมื่อฝนตกหนัก คนข้างล่างจะต้องเจอกับอะไร
 

 
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา มณฑลทหารบกที่ 41 (มทบ.41) ซึ่งตั้งอยู่ที่ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช กองบัญชาการควบคุม เชิญผู้ประกอบการ 17 เหมืองทั่ว จ.นครศรีธรรมราช เข้าให้ข้อมูล
 
ภายหลังแม่ทัพภาค 4 รับเรื่องร้องเรียนว่า ผู้ประกอบการถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ารีดไถ โดยเรียกรับเงินค่าอำนวยความสะดวกจากนายเหมืองรายละ 3 หมื่น ถึง 4 แสนบาท สำหรับค่าดำเนินการเกี่ยวกับการต่อใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องต่อการทำเหมือง
 
แต่ประเด็นที่หายไปก็คือ ทำไมถึงเอาชีวิตของประชาชนไปแขวนบนเส้นด้าย โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยังปล่อยให้มีการทำเหมือง ทั้งที่มีประทานบัตรซึ่งหลายแปลงประทานบัตรให้หลังการประกาศของกรมทรัพยากรธรณี 
 
ยิ่งไปกว่านั้น บนเขาหลวง-เขานัน ยังมีเหมืองเถื่อนอีกจำนวนมาก และเหมืองเถื่อนเหล่านี้ก็ถูกฟอกให้ถูกกฎหมาย โดยอาศัยแปลงประทานบัตร
 
ดังนั้น การตรวจสอบเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บเงินเพื่อความสะดวกสำหรับค่าดำเนินการเกี่ยวกับการต่อใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องต่อการทำเหมืองยังไม่พอ
 
แต่ยังต้องตรวจสอบว่า เหตุใดจึงให้สัมปทานทำเหมืองในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม ทำไมจึงมีการทำเหมืองเถื่อน ใครได้ประโยชน์จากเหมืองทั้งเถื่อน และไม่เถื่อน แร่จากเหมืองเถื่อนขนออกจากพื้นที่ได้อย่างไร มีใครมีเอี่ยวบ้าง
 

 
ที่สำคัญที่สุด คุ้มหรือไม่ระหว่างการได้ค่าภาคหลวง กับหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมืองในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มใน จ.นครศรีธรรมราช
 
สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองใน จ.นครศรีธรรมราช จะเห็นได้ว่าแม้มีหลักฐานของการทำเหมืองที่เป็นหนึ่งในต้นตอหายนะ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ไม่ได้จัดการ แต่กลับไปเร่งผลักดันแผนการสร้างเขื่อน 8-9 แห่งแทน
 
กำลังโหลดความคิดเห็น