สตูล - สตูลเปิดอุทยานเรียนรู้ ขนไดโนเสาร์เดินได้ ท่องโลกดึกดำบรรพ์ธรณีพันล้านปี พร้อมดันอุทยานธรณีสตูล สู่อุทยานธรณีโลก แห่งแรกของประเทศไทย
วันนี้ (5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสนามที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า จ.สตูล ผู้ปกครอง และนักท่องเที่ยวต่างพาบุตรหลาน และนำคณะเข้าเที่ยวชมการจัดแสดง อุทยานไดโนเสาร์เดินได้ ให้เด็กๆ ได้ขี่ไดโนเสาร์เดินได้จริง และเรียนรู้อุทยานสตูลเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ แห่งแรกของประเทศไทย (อุทยานธรณีสตูล สู่อุทยานธรณีโลก Satun Geopark to UNESCO Global Geopark) และพรรณไม้ดึกดำบรรพ์ เรียนรู้ฟอสซิลทะเลดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย “รู้จัก และเข้าใจ” ทรัพยากรท้องถิ่น ขุมทรัพย์ของคนใต้ ตามหาช้างดึกดำบรรพ์ “สเตโกดอน” 1.8 ล้านปี
เล่นเรียนรู้แล้วยังได้รับรางวัลภายในงานมากมาย จากวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สัมผัสแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ อุทยานธรณีสตูล หรือสตูล จีโอพาร์ค ชมศิลปวัฒนธรรมสตูลจีโอพาร์ค และที่พลาดไม่ได้คือ การชมสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ในห้องฉายภาพยนตร์แบบสามมิติ 3D ภายในงาน “การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ธรณีวิทยา ภาคใต้ สตูลจีโอพาร์ค ฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 4” ระหว่างวันที่ 2-11 กุมภาพันธ์นี้ ชมฟรีตลอดงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-7478-9317, 06-3465-4924
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานในการเปิดงาน “การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ธรณีวิทยา ภาคใต้ สตูลจีโอพาร์ค ฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 4” ระหว่างวันที่ 2-11 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมด้วยอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ดร.ทศพร นุชอนงค์ และผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายก อบจ.สตูล โดยมี นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า กล่าวรายงาน
โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า งานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการก้าวต่อไปของอุทยานสตูลเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ แห่งแรกของประเทศไทย และจากที่จะมีการเดินทางมาประเมินในกลางปีนี้ขององค์กร UNESCO Global Geopark ซึ่งนับจากนี้คนสตูลต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน และประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการเตรียมพร้อมต้อนรับประชาคมโลกในการเดินทางมาศึกษา เรียนรู้ นั่นหมายถึงเศรษฐกิจที่จะเติบโตของคนสตูล โดยเกิดจากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันมากกว่า โดยกระทรวงพร้อมจะช่วยผลักดัน และมีภาครัฐเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง
จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบการเสนอให้อุทยานธรณีสตูล เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ทั้งนี้ หากอุทยานธรณีสตูลได้รับการเห็นชอบให้เป็นอุทยานธรณีโลกโดยยูเนสโก ก็จะเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย อุทยานธรณีสตูล ครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมด 2,597 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย แหล่งที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยา 30 แห่ง ตลอดจนมีความหลากหลายทางซากดึกดำบรรพ์ และสัตว์ทะเลมากมายที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
จากทะเลดึกดำบรรพ์สู่กาลเวลาปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมชมจะท่องไปตามโลกทะเลดึกดำบรรพ์ในอดีตกาลของสตูล ช่วง 500-200 ล้านปี ฟอสซิล หิน อันเกิดจากกระบวนการทางธรณีในช่วงเวลากว่า 200 ล้านปี ได้รังสรรค์ และกัดกร่อนแผ่นท้องทะเลดึกดำบรรพ์
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณกว่า 6,000 ปี ที่ต่อเนื่องมายาวนานที่อุทยานธรณีสตูลได้สร้างมรดกทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมไว้ให้แก่ชาวสตูล การตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 6,000-3,000 ปี แหล่งโบราณคดีที่เป็นเพิงผาของภูเขาหินปูน “สุไหงอุเป” อดีต “ปีนังน้อย แห่งเมืองสตูล” เกาะตะรุเตา เรื่องราวของคุกในตำนาน ความหลากหลายทางซากดึกดำบรรพ์ และสัตว์ทะเลมากมายที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์