ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
------------------------------------------------------------------------------------------------
แทนที่จะชี้นิ้วว่า คนที่คัดค้านการระเบิดแก่งเป็นคนนอก มีเบื้องหลัง หรือออกมากล่าวว่าคนที่คัดค้านไม่เข้าใจ ประมาณว่าค้านเพราะโง่ หรือออกมาเรียกร้องให้ชาวบ้านต้องเสียสละเพื่อสร้างเขื่อน (ที่เรียกสวยๆ ว่าที่เก็บกักน้ำ) ที่ภาคใต้ หรือทำอย่างไรก็ได้ให้โครงการขนาดใหญ่ต้องผ่านการประชาพิจารณ์ หากไม่ผ่านก็ต้องทำให้ผ่าน
น่าจะไปทบทวนว่า โครงการเหล่านี้ได้ยึดหลัก “การพัฒนาที่ยั่งยืนยืน” หรือไม่?!
ผมทวนให้เข้าใจหน่อยครับว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมี 3 องค์ประกอบ แต่ละองค์ประกอบต้องยึดหลักการ สรุปดังนี้
1) ด้านเศรษฐกิจ ต้องยึดหลักสร้างความเจริญเติบโตที่ทำให้เกิดกระแสรายได้ที่เหมาะสม
2) ด้านความยุติธรรม ต้องยึดหลักการเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสของคนในสังคมจะต้องมีความเท่าเทียมกัน และเคารพสิทธิมนุษยชน
3) ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องยึดหลักการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การรักษาไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพของระบบนิเวศของโลกจะไม่ถูกกระทบกระเทือน
ผมถามหน่อยเถอะครับ โครงการทั้งหลายแหล่ที่ผลักดันกันในขณะนี้ ทั้งระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อนที่อ้างป้องกันน้ำท่วม ได้ยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 3 ด้านหรือไม่?!
ถ้าไม่! โครงการเหล่านี้ก็ควรที่จะต้องถูกต่อต้านจากสังคม โดยไม่สามารถกีดกันได้ว่าเป็นคนนอก หรือคนในพื้นที่ เพราะสำนึกของการพัฒนาที่ต้องยึดหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องของสากล
ส่วนคนที่ไม่มีสำนึก ก็ขอให้กลับไปอ่านหลักการข้างต้นหลายๆ รอบครับ?!?!
------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพประกอบ 2 ภาพแรก อยากบอกว่าปลาไม่ใช่แค่กินไปเป็นมื้อๆ นะครับ แต่คือความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิต และทุนทางธรรมชาติที่เป็นเศรษฐกิจของชาวบ้าน