xs
xsm
sm
md
lg

พลังประชาชน! จัดเวทีสิทธิชุมชนร่วมป้องกัน และรักษาทรัพยากร กรณีเหมืองหินที่สตูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - พลังประชาชนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหิน จ.สตูล และ จ.สงขลา จัดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่อง “สิทธิชุมชนและประชาชนในการร่วมกันป้องกันและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีเหมืองหิน”

วันนี้ (3 ก.พ.) พลังประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเฉพาะจากการขอระเบิดเหมืองหินใน ต.ควนโดน อ.ควนโดน และ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล ประชาชนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองหิน จ.สตูล และ จ.สงขลา ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักกฎหมาย และคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฐานทรัพยากร จัดเวทีเสวนาให้ความรู้ “สิทธิชุมชนและประชาชนในการร่วมกันป้องกันและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีเหมืองหิน” ณ มัสยิดฟัตหุเราะห์มาน บ้านนาปริก หมู่ที่ 9 ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล
 

 
โดยในช่วงเช้าของวันนี้ ทางคณะฯ ได้เดินทางเข้าพื้นที่ภูเขาโต๊ะกรั้ง ในพื้นที่ ต.ควนโดน อ.ควนโดน และภูเขาบังใบ ในพื้นที่ ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล ตรวจสอบผลกระทบจากการขอระเบิดภูเขา เพื่อการทำเหมืองแร่ภูเขาทั้ง 2 ลูก และเมื่อช่วงบ่ายเวลาประมาณ 13.00 น. จึงเริ่มกิจกรรมบนเวที โดยมีการเสวนากันในเรื่องของผลกระทบ ประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมชี้แจงข้อกฎหมายกับประชาชน โดยมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 500 คน จากทั้ง จ.สตูล และ จ.สงขลา

การขอระเบิดภูเขา มีการดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากล มีการปิดบัง บิดเบือนข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประชาชนรับทราบสิทธิในการยื่นหนังสือคัดค้านเพียง 1 วัน ก่อนครบกำหนดสิทธิยื่นคัดค้าน มีการจัดเวทีประชาคมปลอม และจ่ายค่าเข้าประชุมคนละ 1,000 บาท รายงานการสำรวจพื้นที่ของอุตสาหกรรมจังหวัด ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีการข่มขู่แกนนำ และชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งมีการนัดเจ้าของสถานศึกษาเอกชน และผู้นำศาสนาในพื้นที่ เพื่อไกล่เกลี่ยโดยการจ่ายเงินตัวเลข 5 หลัก และล่าสุด นายอำเภอควนกาหลง ได้เข้ามากล่าวอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ โดยขอให้ประชาชนยุติการจัดเวทีดังกล่าว แต่ประชาชนเห็นว่าเป็นสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงยืนยัน และจัดเวทีต่อไป
 

 
ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียน และคัดค้านโครงการต่อหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด จนกระทั่งถึงระดับรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด และจากนี้ไปชาวบ้านยังหวังว่า หน่วยงานด้านกฎหมาย หรือศาลจะเป็นที่พึงของประชาชน และจะยังคงร่วมกันเดินหน้าคัดค้านจนกว่าจะมีการยกเลิกโครงการ หรือมีการดำเนินการไต่สวนตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชนต่อไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น