ศูนย์ข่าวภูเก็ต - คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์ฯ ราชภัฏภูเก็ต และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนางานสร้างสรรค์สู่สากล : การออกแบบและการสร้างต้นแบบ (Pattern) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติก ดึงดีไซเนอร์ชื่อ อาจารย์สุเมธ พันธ์แก้ว ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแห่ง Classic Model ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบผ้าบาติกให้โดนใจลูกค้า
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ธวัชชัย ทุมทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต ร่วมจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนางานสร้างสรรค์สู่สากล : การออกแบบและการสร้างต้นแบบ (Pattern) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติก โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์สุเมธ พันธ์แก้ว ในฐานะผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแห่ง Classic Model แบรนด์ที่นำผ้าไทยมาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าที่มีดีไซน์ และได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ร่วมเป็นวิทยากรมาให้ความรู้ในด้านการออกแบบ และสร้างแบบ นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรมภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวด้วย เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
นางอัญชลี กล่าวว่า โครงการนี้ตนได้ร่วมส่งเสริมโดยนำกลุ่มสตรีตำบลต่างๆ ที่ได้ทำผ้าบาติกเข้าร่วมอบรม เช่น ต.วิชิต ต.รัษฎา ต.เชิงทะเล ต.ศรีสุนทร เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่กลุ่มผ้าบาติก จังหวัดภูเก็ต ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก โดยเน้นการออกแบบ ตัดเย็บผ้าบาติก โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างแบบอย่างมีดีไซน์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดสากล โครงการนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28-30 ม.ค.นี้ ณ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
ทั้งนี้ ในการอบรมครั้งต่อไปจะให้มีการพัฒนาการเขียนลายบาติก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถทำให้กลุ่มสตรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำสามารถสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มได้ครบวงจร เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างคนได้อย่างยั่งยืน โดยทางอาจารย์สุเมธ จะเป็นวิทยากร และเตรียมตัวสร้างวิทยากรแม่ไก่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ในการจัดอบรมครั้งต่อไปในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ จะมีการเอาชิ้นงานที่ผลิตขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วไปจัดแสดงงานวันสตรีสากล 8 มี.ค.2560 เพื่อเป็นต้นแบบเพื่อให้ชุมชนองค์กรอื่นๆ ได้ไปทำ
“กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ได้มีทักษะเกี่ยวกับเรื่องผ้าบาติกมาแล้ว ตรงนี้ก็มีการต่อยอดเกี่ยวกับเรื่องทักษะการเขียนลายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น วิธีการที่ทำได้เป็นสากลขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบแพตเทิร์นต่างๆ วันนี้ก็จะเน้นไปเรื่องของการตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บีชแวร์ต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทางกลุ่มลูกค้าของภูเก็ต คิดว่าเราจะพัฒนาไปถึงระดับของพรีเมียมในอนาคต ถ้ากลุ่มสตรีสามารถพัฒนาทักษะไปได้ถึง สิ่งที่เราคิดว่า การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา จะเป็นแนวทางที่พวกเราตั้งใจส่งเสริมสตรีให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้ได้
นอกจากนั้น อาจารย์สุเมธ ก็ตระหนักว่า กลุ่มสตรี ใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาคใต้ประสบอุทกภัยอยู่ เราก็จะมาสร้างโมเดลที่ภูเก็ตก่อน หากประสบความสำเร็จเราก็จะไปช่วยพี่น้องทางภาคใต้ของเรา หลังจากน้ำลดแล้วก็จะไปช่วยกันสร้างงาน สร้างคน ช่วยพี่น้องกลุ่มสตรีของเราได้ต่อไป ข้อสำคัญคือ เราร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เพราะเราคิดว่าองค์ความรู้เหล่านี้ต้องมีสถาบันศึกษามารองรับ มิเช่นนั้นก็จะหายไป แต่ถ้าอยู่กับสถาบันการศึกษาแล้ว สถาบันการศึกษาก็จะเป็นผู้ที่รวบรวมเก็บองค์ความรู้ ต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่พี่น้องในชุมชนในพื้นที่ได้” นางอัญชลี กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ธวัชชัย ทุมทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้วางแผนต่อยอดยาวออกไปอีกในวันที่ 24-26 ก.พ. และ 3-5 มี.ค.60 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะเป็นโครงการต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์ แพทเทิ่ลและลวดลายใหม่ๆ ให้กับชุมชน เราจะมียังดีไซเนอร์ นักศึกษาเข้ามาร่วมอบรมด้วย และนักศึกษาเหล่านี้ก็จะไปเกาะติดกับชุมชนในการพัฒนาแบบพัฒนาลาย โดยจะมีอาจารย์สุเมธ เป็นพี่เลี้ยง นักศึกษาที่เรียนทางด้านการออกแบบก็จะไปพัฒนาลายที่สามารถนำไปต่อยอดได้ เป็นโครงการที่เราจะให้เกิดความยั่งยืน คิดว่าอนาคตข้างหน้าเราจะได้เห็นชุมชนเข้มแข็งด้วยตัวเอง หลังจากที่ได้เรียนรู้แล้วก็สามารถผลิตชิ้นงานของตัวเองได้