โดย..ณขจร จันทวงศ์
28 มกราคม 2560 ผมกลับมาที่ชะอวดบ้านเกิดอีกครั้งเพื่อมาติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูโรงเรียนบ้านปากบางกลม ม.4 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่ถูกน้ำท่วมเป็นรอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 ม.ค. ถึงปัจจุบัน ระดับน้ำบางพื้นที่ยังไม่ลด โดยเฉพาะบริเวณหน้าอาคารเรียน
บ้านเกิดของผมมีญาติพี่น้องกระจายอาศัยกันอยู่ใน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านปากบางกลม ม.4 และบ้านท่าเข็น ม.2 ซึ่งโรงเรียนบ้านปากบางกลม นั้นเป็นสถานศึกษาอบรมบ่มเพาะประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ลูกหลานของผู้คนใน 2 หมู่บ้านนี้
เมื่อวาน (28 ม.ค.) เราถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ MGR Online ภาคใต้ในเฟซบุ๊ก มีคณะครูโรงเรียนบ้านปากบางกลม ผู้นำชุมชน และผู้อาวุโสของชุมชนบ้านปากบางกลม และบ้านท่าเข็น ร่วมวงพูดคุยเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนที่แยกกันไม่ออกกับความเป็นมาของโรงเรียนบ้านปากบางกลม
“ยุคเริ่มสร้างโรงเรียนราวปี 2513 กูกับคนชายๆ ในหมู่บ้านพาเรือไปปล้าตก (ทิศตะวันตก) ไปงมทรายท้องคลอง ตักขึ้นมาทีละถัง ทีละถัง ใส่ในเรือแล้วขนกลับมานี่ มาสร้างโรงเรียนบ้านปากบางกลม” ลุงนิยม ไกรสยุมพร ผู้อาวุโสที่มีบทบาทสำคัญต่อโรงเรียนบ้านปากบางกลม เล่าเกร็ดประวัติที่หลายคนลืมเลือนไปแล้ว และหลายคนไม่เคยรับรู้มาก่อน
“เราช่วยกันสร้างตัวอาคารเสร็จตอนนั้นหลังคามุงด้วยจาก ผู้หญิงช่วยกันเย็บจาก (จาก = วัสดุมุงหลังคาทำด้วยใบของต้นจากพืชตระกูลปาล์ม) พอสร้างเสร็จไปขอให้ทางการมาเปิดโรงเรียนแต่เขาไม่เปิดให้ เขาบอกว่าหลังคามุงจากไม่ได้มาตรฐานของกระทรวงศึกษา เราเลยมาคิดกันต่อว่าจะทำพรื่อดี (ทำอย่างไรดี) ไม่อยากให้อาคารเรียนว่าง เลยจัดชนไก่กันในอาคารนั้นแหละ”
เล่ามาถึงตรงนี้ทุกคนพากันฮือฮา มีน้อยคนนักที่จะรู้ประวัติเรื่องนี้ของชุมชนบ้านปากบางกลม และชุมชนบ้านท่าเข็น ต.ชะอวด จากอาคารเรียนที่ชาวบ้าน และผู้ใหญ่ฉาย อินทร์ศวร ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นช่วยกันสร้างขึ้นมาแทนที่ทางการจะประกาศให้เป็นโรงเรียนตามความตั้งใจของชาวบ้าน แต่ด้วยหลังคาที่มุงด้วยใบของต้นจาก (เพราะชาวบ้านไม่มีเงินซื้อกระเบื้อง) ถูกทางการในสมัยนั้นตัดสินว่าเป็นอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่ประกาศให้เป็นโรงเรียน ชาวบ้านไม่อยากให้อาคารว่างเปล่า หรือถูกทิ้งร้าง เลยใช้เป็นสนามชนไก่ แต่ไม่ใช่เพื่อการพนัน
“เราใช้อาคารเรียนหลังแรกนี้จัดชนไก่เพื่อระดมทุนมาซื้อกระเบื้อง แล้วก็ได้เงินมาก้อนหนึ่งมาซื้อกระเบื้องลอนเล็กมามุงหลังคาอาคารเรียน มุงเสร็จเชิญทางการมาดู แต่เขาบอกว่าไม่ผ่านอีก เพราะใช้กระเบื้องลอนเล็ก!?” ลุงยม เล่ามาถึงตรงนี้ผมอดไม่ได้ที่จะถามแทรกขึ้นด้วยความสงสัย
“อ้าว ทำไมล่ะลุง หลังคามุงจาก หรือมุงกระเบื้องลอนเล็ก มันทำให้เด็กเรียนไม่รู้เรื่องอย่างนั้นหรือ เขาเลยไม่ให้ผ่าน ไม่เปิดเป็นโรงเรียนให้ แล้วทีนี้ชาวบ้านทำพรื่อ”
ลุงยม เล่าต่อว่า หลังจากเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาไป 2 ครั้งก็ยังไม่ผ่าน ครูคนหนึ่งที่ชาวบ้านเคารพนับถือทราบเรื่องเข้าจึงบริจาคเงินส่วนตัว จำนวน 20,000 บาท ให้ชาวบ้านใช้ซื้อกระเบื้องลอนใหญ่มามุงหลังคา
“เรารื้อกระเบื้องลอนเล็กไปขายได้เงินจำนวนหนึ่ง เอามารวมกับเงินที่ได้รับบริจาคก็พอซื้อกระเบื้องลอนใหญ่ได้ มุงเสร็จเชิญทางการมาเปิดอาคารเรียน เขาก็มาเปิดให้ คราวนี้ไม่ผิดแล้ว โรงเรียนก็ได้เปิดสอนครั้งแรกราวปี 2514”
นี่คือเกร็ดประวัติของโรงเรียนบ้านปากบางกลม ที่สร้างขึ้นจากเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตวิญญาณของชาวบ้านปากบางกลม และชาวบ้านท่าเข็น ต.ชะอวด ฟังเรื่องราวเหล่านี้เพิ่มเติมได้จากคลิปวิดีโอด้านล่าง
ฟังประวัติของชุมชนแห่งนี้แล้ว ผมสอบถามถึงภาพถ่ายเก่าๆ ของชุมชนบ้านปากบางกลม และบ้านท่าเข็นในอดีต ได้ความว่าสมัยนั้นไม่ค่อยได้ถ่ายรูปเนื่องจากการถ่ายรูปเป็นอะไรที่ใช้เงินทุนและชาวบ้านไม่มีเงินไปทำสิ่งฟุ่มเฟือยแบบนั้นกัน ประกอบกับภาพถ่ายจำนวนน้อยที่มีอยู่สูญหายไปจำนวนมากในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2518 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากโรงเรียนบ้านปากบางกลม เปิดสอนอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน
ประวัติศาสตร์ของที่นี่ส่วนใหญ่สูญหายไปกับน้ำท่วม!
ผมจึงค้นภาพถ่ายเก่าๆ ที่ถ่ายด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือเป็นภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนบ้านปากบางกลม และบ้านท่าเข็นเมื่อปี 2555 ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นยุคสุดท้ายของถนนดินแดงในพื้นที่นี้ ปัจจุบัน 2 หมู่บ้านนี้มีถนนดำพาดผ่านแล้ว แม้บางช่วงจะยังจมอยู่ในน้ำก็ตาม ชมบรรยากาศเก่าๆ เรียบง่าย และงดงามได้จากภาพถ่าย