xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงการต่างประเทศจัดสัมมนาตามแนวทางสายกลางในสังคมพหุวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - กระทรวงการต่างประเทศ จัดสัมมนาแนวทางสายกลางในสังคมพหุวัฒนธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสริมสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง เพื่อสร้างสันติสุขตามแนวคิดสายกลาง

วันนี้ (26 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศ จัดสัมมนาแนวทางสายกลางในสังคมพหุวัฒนธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง และเพื่อสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้

นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีส์ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนาแนวทางสายกลางในสังคมพหุวัฒนธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี โดยมีผู้นำศาสนา ครู เยาวชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมประมาณ 200 คน จัดสัมมนาโดยกระทรวงการต่างประเทศ ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม และสำนักจุฬาราชมนตรี

นางอรุณรุ่ง กล่าวว่า ไทย และมาเลเซียมีความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับการก่อการร้าย และแนวคิดสุดโต่งโดยกลุ่ม IS ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่กรุงเทพฯ ทั้ง 2 ประเทศ เห็นชอบที่จะให้มีการส่งเสริมความมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านแนวคิดสายกลางร่วมกัน กระทวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในกลุ่มภารกิจการสร้างความเข้าใจ ทั้งในและต่างประเทศ จึงได้จัดทำโครงการเรื่อง “แนวคิดสายกลางในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในมาเลเซีย ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ตระหนักในแนวคิดสายกลาง และรับฟังความคิดเห็นมุมมองของประชาชนต่อแนวคิด และบทบาทในการส่งเสริมแนวคิดสายกลาง ต่อการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 

 
ด้าน ดร.นาซารุดิน มัด อาชา ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ GIobal Movement for Moderate Foundation หรือ GMMF ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง แนวทางสายกลางในสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในตอนหนึ่งว่า “แม้ศาสนาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อเหตุการณ์รุนแรง และการเผยแพร่แนวคิดสุดโต่ง แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการก่อเหตุโดยชนกลุ่มน้อยเพราะขาดความรู้ในสถานการณ์อย่างแท้จริง และผู้ที่มีแนวคิดสุดโต่งปรากฏอยู่ในทุกกลุ่มศาสนา รวมถึงศาสนาพุทธ และคริสต์ การแก้ไขปัญหาแนวคิดสุดโต่ง และการต่อต้านความรุนแรงจากแนวคิดสุดโต่ง เป็นประเด็นระหว่างประเทศที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างความตระหนักรับรู้ในกลุ่มเยาวชน และการใช้แนวทางสันติเพื่อเป็นพลังต่อต้านแนวคิดสุดโต่งได้”

ปัญหาแนวคิดสุดโต่งต้องแก้ไขด้วยความรู้ และสติปัญญา เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมแนวทางสายกลาง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความอดทนอดกลั้น การศึกษาเพื่ออนาคตของลูกหลาน รวมถึงการยึดหลักฉันทมติของอาเซียน ว่าด้วยแนวทางสายกลาง ทุกชุมชนย่อมมีความแตกต่าง และความแตกแยกทางความคิด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตามข้อเท็จจริงในสังคม อย่างไรก็ตาม ชุมชนทางสายกลางมีหน้าที่ในการเชื่อมต่อ และแสวงหาแนวทางเพื่อลดช่องว่างทางความแตกต่างทางความคิด เพื่อไม่ให้เกิดการบ่มเพาะแนวคิดรุนแรง และบั่นทอนความอดทนอดกลั้นทางสังคม
 
กำลังโหลดความคิดเห็น