คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
--------------------------------------------------------------------------------
ผมไม่ทราบหรอกครับว่าในวงวิชาการสื่อสารมวลชนเขามีหลักการอย่างไรในการจัดลำดับความสำคัญกับข่าวสารที่ตนจะนำเสนออย่างไร แต่ผมทราบว่านักวิทยาศาสตร์ และนักคิดชั้นนำของโลกได้ถือว่า “ปัญหาใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เรากำลังเผชิญอยู่คือ การทำลายสิ่งแวดล้อม” (ข้อความจาก Noam Chomsky)
ดังนั้น สำหรับผมซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีข่าวที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ผมจึงถือว่าข่าวประเภทนี้เป็นทั้งเป็นข่าวใหญ่ และข่าวสำคัญครับ แต่ที่น่าเสียดายที่ข่าวประเภทนี้ไม่เป็นข่าวในบ้านเรา ผมจึงขอนำเสนอโดยย่อรวม 4 ข่าว ดังนี้
หนึ่งข่าวใหญ่ และสำคัญมาก คือ รัฐบาลประเทศจีน ได้ประกาศยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 104 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตรวมกันถึง 1.2 แสนเมกะวัตต์ (มูลค่า 62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เรียกว่าเขาไม่เสียดายต่อเงินก้อนใหญ่ที่ได้ลงทุนไปแล้ว
โรงไฟฟ้าที่ถูกยกเลิกไปนี้กระจายอยู่ใน 13 จังหวัดทางตะวันตก และทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นแหล่งที่มีถ่านหินมาก
เหตุผลที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศต่อที่ประชุม World Economic Forum เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้วว่า ประเทศจีนมีความมุ่งมั่นที่จะนำหน้าในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก
ความจริงแล้วรัฐบาลจีนมีแผนจะกำจัดโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 150 โรง ในช่วง 5 ปี จาก 2016-2020 แต่ผมเข้าใจว่าที่ได้ขยับมาเร็วขึ้นส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่า เป็นผลมาจากการกล่าวหาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง และเป็นแผนการหลอกลวงของประเทศจีน
เออ! ก็ดีนะครับ ถ้าพญาช้างสาร 2 ตัว ทะเลาะกันแล้วรู้จักแข่งกันทำความดี
ก่อนที่จะไปยัง 3 ข่าวสำคัญ ผมขอตั้งข้อสังเกต 3 ประการ คือ
(1) ประเทศจีนได้เริ่มแสดงให้ชาวโลกได้เห็นทั้งจากคำประกาศครั้งล่าสุด และข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2015 ว่า ได้ลดลงแล้วจริง ไม่ใช่ประกาศเพื่อเอาหน้าต่อชาวโลก
(2) แม้ที่ได้เริ่มการก่อสร้างแล้ว ในพื้นที่ที่มีถ่านหินเป็นของตนเอง แต่ก็ยังยกเลิกโครงการได้
(3) ประเทศไทยเราได้ประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซ แต่ในความเป็นจริงยังคงปล่อยเพิ่มขึ้น (ในภาพบนทางขวามือ) และยังมีโครงการจะสร้างเพิ่มอีกเกือบ 8 พันเมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่ต้องนำถ่านหินเข้าจากต่างประเทศ พูดตามภาษาปักษ์ว่า “เมร่อ 2 ชั้น”
ข่าวสำคัญที่หนึ่ง ในปี 2016 ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่เขาสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 4 เท่าของโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี (1,434 MW)
เรื่องนี้ แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เองซึ่งควรจะรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างใคร่ครวญก่อน แต่กลับพูดว่า แสงแดดไม่มั่นคง ไม่เสถียร มีจำนวนน้อย และราคาแพง แต่ความจริงอยู่ในแผ่นภาพ (พร้อมแหล่งอ้างอิง) ความเชื่อที่ว่ามีน้อยนั้นเป็นความจริง แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วครับท่าน!
ข่าวสำคัญที่สอง ข่าวนี้มาจากรายงานเรื่อง “การคิดใหม่เรื่องพลังงาน 2017” ซึ่งจัดทำโดยองค์กรที่ชื่อว่า International Renewable Energy Agency (IRENA) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองดูไบ ก่อตั้งเมื่อปี 2009 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก ผู้ร่วมก่อตั้งคนสำคัญ Dr.Hermann Scheer ซึ่งผมเองได้มีโอกาสฟังการบรรยายอย่างประทับใจมากของเขาเมื่อปี 2004 จนต้องติดตามผลงานมาจนถึงทุกวันนี้
คนไทยเราได้ถูกโฆษณาชวนเชื่อโดยผู้คุมนโยบายพลังงาน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันด้วยว่า พลังงานแสงอาทิตย์มีราคาแพง หากติดตั้งกันมากๆ จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพง เป็นภาระต่อผู้มีรายได้น้อย
ขอท่านผู้อ่านโปรดดู 2 ภาพข้างนี้ครับ ว่า คำโฆษณาดังกล่าวเป็นจริงหรือเปล่า ข้อมูลนี้เป็นราคาประมูลซึ่งจะต้องส่งไฟฟ้าในปี 2018 จากแสงอาทิตย์ ชีวมวล และกังหันลม เกือบจะทั่วทุกภูมิภาคของโลก
ช่วยดูสิครับว่า มีประเทศใดบ้างที่รับซื้อราคาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาที่แพงกว่าประเทศไทยเรา
นอกจากจะไม่แพงอย่างที่ได้หลอกคนไทยแล้ว ประเทศไทยเรายังรับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในราคาที่แพงกว่าชาวโลก (ยกเว้นประเทศแคนาดาซึ่งไม่ค่อยจะมีแสงแดด) นี่เป็นการทำความชั่วแล้วมาอ้างเอาความดีอีก
ข่าวสำคัญที่สาม องค์การสหประชาชาติได้ตั้ง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG” ไว้ 17 เป้าหมาย แต่ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญ และไม่ได้ให้น้ำหนักความสำคัญ
องค์กร IRENA ได้เชื่อมให้เห็นว่า หนึ่งในเป้าหมาย 17 ข้อนั้น ล้วนมีความสัมพันธ์กับเป้าหมายที่ 7 คือ “พลังงานสะอาด และความสามารถในการจ่าย” (ดังภาพประกอบ)
ทุกสรรพชีวิตในน้ำไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ หรือทะเล (เป้าหมายที่ 14) จะมีปัญหาหากมีการใช้ถ่านหิน เช่น ปะการังฟอกขาว ความหิวโหย (เป้าหมายที่ 2) จะเกิดขึ้นเพราะผลผลิตทางการเกษตรลดลงหรือการไม่มีงานทำ เป็นต้น ล้วนเชื่อมโยงกับปัญหาพลังงาน เพราะกิจการพลังงานหมุนเวียนมีการจ้างงานเยอะมาก
รัฐบาลนี้กำลังจะวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่หากขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน มีการบิดเบือนข้อมูล (ดังข่าวสำคัญที่ 1 และ 2) ด้วยอำนาจเงิน และอำนาจการบริหาร รวมทั้งขาดการวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกของเป้าหมายการพัฒนา (ข่าวสำคัญที่ 3) ขาดความรับผิดชอบต่อโลก (พระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 เมื่อ 4 ธ.ค.2532 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในศาสตร์ของพระราชา) ก็อาจจะนำไปสู่ความล้มเหลว และเสียเกียรติภูมิของประเทศได้โดยง่ายครับ
ผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้พูดครั้งแรกว่า “ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของความรู้ไม่ใช่ความโง่เขลาของคน แต่มันคือการบิดเบือนความรู้” (The greatest enemy of knowledge is not ignorance, it is the illusion of knowledge.) คนไทยจึงต้องพยายามรู้ให้ทันกับเล่ห์เพทุบายเหล่านี้ครับ