xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่า จับมือร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ มะริด-ระนอง-ภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ไทย-พม่า ประชุมหารือส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นการท่องเที่ยวทางน้ำระหว่างมะริด-ระนอง-ภูเก็ต

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรม เดอะนาคา ภูเก็ต ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ นาย อู อ่อง เหมื้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวพม่า โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ธุรกิจการค้าจากประเทศพม่า และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พังงา, ระนอง, กระบี่, ตรัง และภูเก็ต) เข้าร่วม โดยในครั้งนี้ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมประชุมหารือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการระหว่างไทย และพม่า

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามที่ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมภาคเอกชนไทย เดินทางไปยังกรุงเนปิดอ ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 11-12 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างไทย-พม่า ด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน โดยวาระสำคัญคือ การเซ็น MOU ร่วมกัน จุดประสงค์ของการลงนาม MOU เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ร่วมกันพัฒนาทรัพยากร ผลักดัน maritime tourism หรือการท่องเที่ยวทางน้ำ และต่อยอดนโยบาย Asean Connect ไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการร่วมการพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลทางชายฝั่งอันดามันระหว่าง พม่า กับไทย ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดภูเก็ต, พังงา, กระบี่ และตรัง เพื่อจะได้ต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจเรือสำราญ เรือยอชต์ และเรือท่องเที่ยว อันจะเป็นการสร้างรายได้ให้อย่างมั่นคง และยั่งยืนให้กับทั้ง 2 ประเทศ

นายพงษ์ภาณุ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังลงนาม MOU ไทย และพม่าเร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงมือทำตามข้อตกลงได้ทันทีที่ให้เกิดผลงานในปี 2560 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง CLMVT (พม่า-ไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม และ ASEAN) เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันอย่างยั่งยืน two Country one Destination ให้มากขึ้น การจัด FAM trip ดึงสื่อเอกชน เข้ามามีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลการท่องเที่ยวระหว่างกัน ช่วยทางด้านเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน และการสร้าง digital tourism ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองมากขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ และสนับสนุนภาคเอกชนไทยมาร่วมหารือเพื่อขอรับการส่งเสริมข้อมูลส่งเสริมการลงทุนทางภาคบริการในพม่า ซึ่งพม่าต้องการเน้นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มะริด-ระนอง-ภูเก็ต

ด้าน นายอู อ่อง เหมื้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวพม่า กล่าวว่า จากการที่ไทย และพม่าได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2560 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันทั้งเชิงกว้าง และเชิงลึก การแลกเปลี่ยนการเดินทางระหว่างกัน รวมทั้งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ 3

ฝ่ายพม่า เสนอความร่วมมือด้านพัฒนาการท่องเที่ยวกับไทยเรื่องการส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยว การพัฒนา package ด้านการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยวเชื่อมโยง โดยพม่าอยากให้ไทยพิจารณาการส่งเสริมให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยเฉพาะการเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างประเทศในเส้นทางเกาะสอง-มะริด-กรุงเทพฯ และเส้นทาง มะริด-ทวาย-กรุงเทพฯ ซึ่งสนามบินมะริด ยังมีข้อจำกัดในการรองรับได้เพียงเครื่องบินขนาดกลาง และขนาดเล็ก

ขณะที่ นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทยมีศักยภาพในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทางทะเล เพราะมีความพร้อมในทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม โดยเฉพาะทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเรือสำราญ หรือเรือยอชต์ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง และที่ภูเก็ตนี้ก็เป็นจุดที่มีเรือยอชต์เข้ามาจำนวนมาก รัฐบาลจึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวด้วยเรือยอชต์ เพื่อสร้างแรงเหนี่ยวนำธุรกิจต่อเนื่อง เช่น มารีน่า อู่ต่อเรือและซ่อมเรือ คลับเฮาส์ และโรงแรม โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน ดังนั้น หากมีการร่วมมือระหว่างไทยและพม่า จะทำให้การท่องเที่ยวฝั่งอันดามันของทั้ง 2 ประเทศมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน

ขณะที่ นายโชคชัย กล่าวต่ออีกว่า โดยขณะนี้รัฐบาลไทย และพม่าอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงเงื่อนไขข้อกฎหมายที่จำเป็นสำหรับกฎบัตรบังคับเรือสำราญ และการดำเนินธุรกิจเรือสำราญ รวมทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่สามารถเอื้ออำนวยต่อเรือสำราญ กฎของกรมศุลกากร สนับสนุนสถานที่ใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาเป็นท่าจอดรถ ตลอดจนมองหาภาคเอกชนมาร่วมลงทุน แผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การนำเจ้าของเรือ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต่อเรือสำราญ อู่ต่อเรือและซ่อมเรือ ชิ้นส่วนและอะไหล่เรือ นักลงทุนธุรกิจ กีฬาทางน้ำ และผู้ดำเนินการเรือเพื่อการนันทนาการเข้าร่วมดำเนินการไปด้วยกัน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถช่วยพัฒนาและนำไปสู่อุตสาหกรรมที่กว้างขวางที่สร้างงานให้คนท้องถิ่น และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศโดยตรง โดยเฉพาะได้ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวทางทะเลเพิ่มขึ้น และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในอนาคต

ทั้งนี้ โอกาสการลงทุนในพม่ามีสูง ผู้ประกอบการไทยจะมีความได้เปรียบในการลงทุนในพม่า ภายใต้นโยบาย asian connect ของอาเซียน และรัฐบาลไทยและพม่าจะส่งเสริมให้มีการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่ 2 ประเทศ ทั้งนี้ พม่ายังขาดระบบการบริหารจัดการโดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็ก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการบริหารจัดการในพม่าได้เป็นอย่างดี นายโชคชัย กล่าวและว่า

การเซ็น MOU และการประชุมในครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดตั้ง working group ที่มีภาคเอกชนของ 2 ประเทศอยู่ในคณะทำงานด้วย และจะเริ่มดำเนินการทันที ซึ่งตัวแทนจากภาคเอกชนของไทย ยินดีให้ความร่วมมือ และคำแนะนำต่อพม่า โดยไทยมองว่าพม่าสามารถเติบโตได้อีกมาก หากได้รับการสนับสนุนด้วยการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขณะที่พม่าเปิดรับความร่วมมือจากไทยอย่างเป็นมิตร และยินดีเรียนรู้จากประเทศไทยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น