xs
xsm
sm
md
lg

จี้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งริมคลองเมืองปัตตานี หลังพบไม่ได้มาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - นอภ.เมืองปัตตานี สั่งตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งริมคลองของ อบต.บาราโหม หลังโยธาจังหวัดพบก่อสร้างไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม แนะควรรื้อออกทั้งหมด เพราะจะกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำได้

วันนี้ (16 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ นายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองปัตตานี ได้สั่งการให้ปลัดอำเภอหัวหน้ายุทธศาสตร์ ประจำตำบลบาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีงานก่อสร้างของ อบต.บาราโหม ตามโครงการกั้นแนวตลิ่งคลอง ในพื้นที่ ม.2 ต.บาราโหม นั้น จากนั้นจึงได้รายงานให้นายอำเภอทราบว่า ข้าพเจ้า พร้อมด้วยปลัด อบต.บาราโหม และผู้นำท้องที่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบทราบว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการกั้นแนวตลิ่งคลองของ อบต.บาราโหม ซึ่งได้ดำเนินการส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว และระยะเวลายังอยู่ในประกัน โดยการตรวจสอบเบื้องต้นพบแนวกั้นดังกล่าวมีจุดได้รับความเสียหาย แผ่นซีเมนต์คอนกรีตที่ทำเป็นผนังกั้นหลุดออกจากเสา จำนวน 2 จุด จึงได้ประสานกับนายก อบต.บาราโหม ให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขแนวกั้นตลิ่งดังกล่าวไว้แล้ว

โครงการกั้นแนวตลิ่งคลองสายบ้านปาเระ-กรือเซะ ของ อบต.บาราโหม ในครั้งนี้ ในพื้นที่ ม.2 บ้านปาเระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี ยังเป็นที่สงสัย และกังขาของชาวบ้านในพื้นที่ว่า เป็นโครงการที่เป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านจริงหรือไม่ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ แล้วใครได้ประโยชน์ ชาวบ้านในพื้นที่ได้ประโยชน์กับโครงการดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะโครงการกั้นแนวตลิ่งคลองที่สร้างขึ้นในครั้งนี้เป็นเพียงเฉพาะหน้าบ้านของกลุ่มตัวเอง ไม่ได้สร้างตลอดแนวตลิ่งคลอง และในระหว่างก่อสร้างคนงานได้รื้อรางน้ำ และฟุตปาธบ้านเรือนของชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย แต่กลับไม่ดำเนินการซ่อมแซม แถมยังเพิกเฉยสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอีก

นอกจากนั้น รูปแบบการก่อสร้างได้ดำเนินการเป็นไปตามแบบหรือไม่อย่างไร เพราะภายหลังจากการส่งมอบงานยังมีวัสดุที่เป็นแผ่นคอนกรีตขนาดความยาว 3 เมตร เหลือเกือบครึ่งของวัสดุทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่สงสัยว่า ผู้รับเหมางานอาจทำไม่ตรงกับแบบที่ได้ตกลงกันระหว่าง อบต.กับผู้รับเหมา
 

 
ส่วนแบบการก่อสร้างนั้นก็ยังเป็นที่น่าสงสัยของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะในระหว่างก่อสร้างไม่มีช่าง อบต. หรือโยธาควบคุมงาน มีเพียงแค่รถแบ็กโฮขนาดเล็ก กับคนงาน 3-4 คน แล้วใช้รถยกเสาเข็มคอนกรีตขนาดความยาวประมาณ 3 เมตร มาปักตามแนวคลองก่อนที่จะนำแผ่นปูนคอนกรีตขนาด 3 เมตร มาเสียบระหว่างเสาเข็ม จึงทำให้มีสภาพโยกเยก เอียงซ้ายขวาตามอารมณ์ของแผ่นคอนกรีตตั้งแต่ต้นเริ่มแรกของการก่อสร้าง แต่ที่น่าสงสัยที่สุดก็คือ ทำไมทาง อบต. ในฐานะผู้ว่าจ้าง และกำกับดูแลไม่ได้มาตรวจสอบ และควบคุมงานก่อสร้างตามอำนาจหน้าที่ แล้วยังกล้าตรวจรับงานที่มีสภาพเสียหาย ยอมจ่ายเงินค่าจ้างที่เป็นเงินหลวงเงินแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชน ที่รัฐจัดสรรเพื่อให้มาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อปกป้องงบประมาณของหลวง และไม่เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

นางลีเมาะ มะแซ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างดังกล่าว กล่าวว่า ไม่นึกเลยว่า อบต.จะทำงานแบบนี้ เข้ารื้อรางน้ำ และฟุตปาธโดยไม่บอกสักคำ พอกลับมาบ้านเห็นทุกอย่างหายไปหมดตกใจ รู้สึกได้ขณะนั้น ขาทั้งสองข้างเย็นชาไปหมด จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ ยิ่งช่วงหน้าฝนกลัวจะถูกน้ำกัดเซาะฐานพนังกำแพงบ้าน เพราะมันไม่มีฟุตปาธกั้นไว้ แล้วบ้านก็ไม่ได้ทนทานสักเท่าไร อดีตสามีเป็นคนสร้างให้ แล้วเราจะให้ใครมาซ่อม อบต.ไม่น่ารังแกชาวบ้าน คนยากคนจนอย่างเราเลย เราหาเช้ากินค่ำวันละไม่ถึงร้อยบาท
 

 
ทางด้าน นายวิจิตร จำปาสกุล โยธาจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า งานการก่อสร้างเขื่อนกั้นแนวตลิ่งนั้น จำเป็นที่จะต้องให้ช่างโยธาที่มีความชำนาญ และที่มีประสบการณ์เคยผ่านงานก่อสร้างลักษณะนี้มาก่อน เพราะพื้นที่ในแต่ละพื้นที่มีสภาพที่ต่างกัน จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายร่วมกันหารือ ก่อนจะกำหนดรูปแบบการก่อสร้าง เช่น วิศวกรที่มีความชำนาญ และประสบการณ์ มีความรู้ด้านโครงสร้าง และที่สำคัญต้องรู้พฤติกรรมของดินในการรับน้ำหนักของเขื่อนกั้นแนวตลิ่ง จึงยังไม่เหมาะที่จะให้ช่าง อบต.คนเดียวมาออกแบบก่อสร้างเขื่อนกั้นแนวตลิ่ง เพราะความสามารถ และประสบการณ์ยังไปไม่ถึง จึงอยากให้หน่วยงานท้องถิ่นถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นแนวตลิ่งก็สามารถมาปรึกษาที่โยธาจังหวัดได้ และพร้อมที่จะให้คำปรึกษา

ส่วนกรณีโครงการกั้นแนวตลิ่งคลองของ อบต.บาราโหม นั้น ที่เห็นมีสภาพเอียงของเสาเข็มที่ปักลงดินทำให้แผ่นคอนกรีต ที่นำมาเสียบระหว่างเสาเข็มนั้น มีสภาพงอ เพราะเสาเข็มมันแบกรับน้ำหนักไม่ไหว จึงทำให้มันเอียงแล้วจะพังในที่สุดกลายเป็นขยะที่เป็นปัญหา กลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นสภาพอย่างนี้ไม่ต้องซ่อมให้เสียเวลา เพราะวิธีการก่อสร้างไม่ถูกต้องหลักวิศวกรก่อสร้างตั้งแต่ต้น เบื้องต้นทราบมาว่าเสาเข็มที่ปักนั้นมีความยาวแค่ 3 เมตร มันได้ที่ไหน เสาเข็มที่ยึดแนวตลิ่งคลองต้องมีความยาวอย่างน้อย 15 เมตร จากผิวดินปักลงให้ลึก และต้องใช้รถตอกเสาเข็มโดยเฉพาะ ไม่ใช่ใช้รถแบ็กโฮมาปัก มันจะปักได้อย่างไร ทางที่ดีก็ควรรื้อออกให้หมด แล้วมาดำเนินออกแบบเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมการก่อสร้าง ชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น