โดย...คนคอนขอขำ
--------------------------------------------------------------------------------
มีเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง เรื่องขำขันท่ามกลางน้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช...
ประเด็นหนึ่ง...“กระบวนการผลิตน้ำประปาเทศบาล” ล้มเหลวแบบไม่น่าล้มเหลว
ประเด็นหนึ่ง...“จระเข้ยักษ์หลุดออกสวนสัตว์” แต่ถูกซัดให้เป็นเรื่องการเมือง
ประเด็นหนึ่ง...มี “คำสั่งกั๊กของแจกน้ำท่วม” เพื่อรอให้ “ส.ท.-ผู้นำชุมชน” กลับจากโครงการเที่ยวผ่าน้ำท่วมมารับ
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า จากการที่น้ำท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และถือเป็นภาวะวิกฤตครั้งใหญ่อีกครั้งในครานี้ เพราะปริมาณน้ำมากกว่าทุกครั้งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก ขณะที่หน่วยงานหลายภาคส่วนย่อมมีหน้าที่ในการเข้ากอบกู้สถานการณ์ และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ต่างทำงานกันตัวเป็นเกลียว
เช่นเดียวกับ “เทศบาลนครนครศรีธรรมราช” ที่มีภาระเดียวกัน
แต่วิกฤตการณ์ครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญถึงขีดความสามารถในการเข้าสู่กับวิกฤตการณ์น้ำท่วมได้มากน้อยแค่ไหน และโชคดีที่กรมชลประทาน จัดส่งเครื่องจักรกลเข้าไปช่วยระบายน้ำ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดวิกฤตซ้อนที่เข้าไปถาโถมประชาชนย่อมเป็นได้
ประเด็นแรก ท่ามกลางน้ำท่วมที่กำลังขยายวงกว้าง ระบบน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของการประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะโซนทางด้านทิศใต้กลับอยู่ภาวะล้มเหลว ประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ควรที่จะใช้ได้ แต่กลับใช้ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งโรงครัวช่วยเหลือประชาชนที่บริเวณสำเพ็งเมืองคอน เมื่อ 4 วันก่อน ไม่สามารถปรุงอาหารได้ เพราะไม่มีน้ำใช้
ท่ามกลางน้ำท่วมคลองทุกคลอง ต้นน้ำผลิตประปาล้นตลิ่ง ซึ่งเป็นภาวะเดียวกับหน้าแล้ง ที่น้ำประปาไม่มีใช้ ดังนั้น แม้ว่าน้ำจะท่วมจะหลากแค่ไหน หรือน้ำจะแล้งหนักสักเพียงใด ระบบประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จึงแทบไม่มีความแตกต่าง
มีคนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชอดรนทนไม่ได้ที่จะบอกกล่าวถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะระบบสูบน้ำที่โรงผลิตน้ำประปาประตูชัย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เขาบอกมาพร้อมกับส่งภาพความอดสูมาให้ดู
ปรากฏว่า มอเตอร์เครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า “จมน้ำ”
ทั้งที่ทราบกันดีอยู่ว่าปริมาณน้ำแค่ไหน ท้ายสุดไม่สามารถใช้การได้ ต้องนำเครื่องยนต์สูบน้ำมาติดตั้งแทน ซึ่งมีอัตราสูบเพียงแค่ 800 ลบ.ม. วิกฤตการณ์ขาดแคลนประปาท่ามกลางน้ำท่วมเกิดขึ้นตามมา
ประเด็นถัดมา หลังจากน้ำท่วมสูงหลากทะลักเข้าสวนสัตว์ทุ่งท่าลาด ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 ซึ่งนั่นเป็นเพราะภัยธรรมชาติ ปริมาณน้ำมหาศาล แม้เทวดาก็ไม่สามารถห้ามได้
ปัญหาใหญ่คือ “จระเข้ตัวใหญ่สุด” ของสวนสัตว์ทุ่งท่าลาด หลุดหายตัวไปกับสายน้ำ!!
จนถึงขณะนี้ยังไม่เจอตัว เป็นเหตุสุดวิสัย แต่สิ่งที่ผู้บริหารควรทำคือ ภาวะผู้นำที่ควรบริหารจัดการเหตุการณ์ในสถานการณ์วิกฤต ถ้าจำไม่ผิดตำราเรียนคงเรียกว่า “การบริหารสถานการณ์ในภาวะวิกฤต” ต้องบริหารจัดการทั้งภายในและภายนอก
ใช่หรือไม่ที่ประชาชนควรต้องมีโอกาสรับรู้เรื่องราว รับรู้ถึงสถานการณ์เรื่องจระเข้หลุดจากสวนสัตว์ เพื่อการระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และขอความร่วมมือเป็นหูเป็นตาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบความเคลื่อนไหว
แต่สิ่งนี้กลับไม่ได้เกิดขึ้น!!
แถมคำตอบแบบเดิมๆ และเป็นคำเดียวที่คิดได้ เพื่อให้ประชาชนชาวนครนครศรีธรรมราชรับรู้ในเรื่องนี้คือ “เป็นกระบวนการสร้างข่าวของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ผู้บริหารเทศบาลเสียหาย” หรือ “เป็นพวกหวังโจมตีทางการเมือง หวังทำให้เสียชื่อเสียง” หรือ “ เป็นพวกหวังจะลงแข่งทางการเมือง” เป็นต้น
จากนั้นก็การันตีว่า “จระเข้ในสวนสัตว์เทศบาลยังอยู่ครบทั้ง 4 ตัว” ส่วนคนทำงานที่สวนสัตว์ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ และต่างหน้าดำคร่ำเครียดท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น
ข้อความทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทบทุกเวที แทบทุกงานที่มีโอกาสได้ถือไมโครโฟน เมื่อถูกท้าทายจากบรรดาผู้สื่อข่าวที่ติดตามเรื่องนี้ คำตอบหลังจากนั้นที่ได้คือ “นิ่ง” และ “เงียบ” ส่วนบริเวณทุ่งท่าลาด ที่เป็นที่ตั้งของสวนสัตว์ กลับมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ห้ามเข้า โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวไปเสียอย่างนั้น
นักจัดรายการในเครือข่ายของเทศบาลถึงกับใบ้กิน เมื่อได้รู้ความจริงว่า จระเข้หายจริง หลังถูกหลอกให้โพนทะนาในเรื่องนี้อยู่เสียนาน
จึงไม่แปลกที่ในเวลานี้จะมีวาทกรรม “ผู้บริหารเข้หยบ” เล่าสู่กันฟังอย่างสนุกสนาน เป็นเรื่องที่แสนจะขำขันสำหรับผู้ที่ติดตาม!!
ประเด็นสุดท้าย เมื่อผู้คนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเดือดเนื้อร้อนใจไปแทบทุกซอกซอย และแทบทุกมุมเมือง ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์คงไม่กล้าที่จะปล่อยให้การจัดทัศนศึกษาดูงาน อันเป็นการพาชาวนครนครศรธรรมราชออกนอกพื้นที่ในยามวิกฤตน้ำท่วม
แต่เอาเข้าจริงๆ คนที่อยู่ในวงการราชการรู้ดีว่า เกิดอะไรขึ้นกับ “โครงการสัมมนาและพัฒนาศักยภาพชุมชนและศึกษาดูงาน” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ที่มีตัวเงินงบประมาณที่จัดไว้นับล้านบาท?!
ผู้นำชุมชน 62 ชุมชน สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) อีกจำนวนหนึ่ง พวกเขากลับจำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ในระหว่าง 10-14 ม.ค. แถมยังไปติดน้ำอยู่แถว จ.ประจวบคีรีขันธ์ช่วงขาขึ้น อันส่งผลให้กำหนดการเดินทางไปเที่ยวในแถบภาคอีสานคงล่าช้ากันไปบ้าง
ท่ามกลางตรอกซอกซอยเมืองนครศรีธรรมราชที่ยังเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังใช้งบประมาณเพื่อการนี้ ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์คงไม่มีใครกล้าที่จะใช้งบทำนองนี้ในช่วงภาวะวิกฤตการณ์บ้านเมือง
แต่สำหรับที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย และเกิดขึ้นแล้ว แว่วว่าผู้ที่รับหน้าที่จัดทัวร์ครั้งนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน นี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่โครงการนี้ล้มเลิกไม่ได้
นี่ยังไม่นับรวมเครื่องบรรเทาทุกข์ที่เขาเรียกกันว่า “ถุงยังชีพ” อีกเรื่อง ซึ่งมีผู้ที่รับเอาถุงยังชีพไปไว้ที่ชุมชนแห่งหนึ่ง 600 ชุด และถูกสั่งไว้ว่า อย่าเพิ่งแจกจ่าย รอก่อน รอกลับมาก่อนค่อยแจก
ฟังประเด็นเรื่องราวเหล่านี้แล้วบอกได้คำเดียว...ฮากันสิ รออะไรหรือ!!!!