xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรัฐไทยสับสนทางนโยบาย “ดันทุรังเอา world class destination” อย่างกระบี่มาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน / นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากกรีนพีช
 
คอลัมน์  :  ได้อย่างไม่เสียอย่าง
โดย...นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
ความสับสนทางนโยบายประการสำคัญของรัฐไทย คือ การจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบนพื้นที่จังหวัดกระบี่ ที่เป็น “world class destination” หรือเป็น “จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก” ซึ่งสองอย่างนี้ขัดแย้งในตัวเองในระดับรากฐาน เป็นความมึนงงของนักวางยุทธศาสตร์ระดับนโยบายชาติที่ไร้ทิศทาง แม้ในยุคที่ทหารผู้อ้างว่าตนคือ นักยุทธศาสตร์ที่แม่นยำ กำลังครองแผ่นดิน
 
เหตุผลที่ต้องเป็นกระบี่ แท้จริงมีเหตุผลเดียวคือ ที่กระบี่มีโรงไฟฟ้าลิกไนต์เก่าอยู่ที่นั่นแล้ว มีที่ดินอยู่แล้ว มีพนักงานอยู่แล้ว มีฐานมวลชนอยู่ที่นั่นบ้างแล้ว จึงดันทุรังจะขอสร้างที่เดิมให้จงได้ ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าเดิม กับโรงไฟฟ้าใหม่นั้นคนละเรื่องกัน
 
โรงไฟฟ้าลิกไนต์เดิมขุดถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองข้างโรงไฟฟ้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิตเพียง 60 เมกะวัตต์ ผลกระทบต่อทางทะเล และการท่องเที่ยวจึงจำกัด แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ใหม่นี้ขนาด 800 เมกะวัตต์ และต้องขนถ่านหินมาจากอินโดนีเซีย มาขึ้นฝั่งที่บ้านคลองรั้ว
 
เส้นทางขนถ่านหินต้องผ่านพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่การท่องเที่ยว พื้นที่ดำน้ำ แหล่งหญ้าทะเลที่หายาก แหล่งปะการังที่สวยงาม แหล่งทำประมงพื้นบ้านของชุมชน การขนถ่านหินยังต้องผ่านป่าชายเลน ในพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือแรมซ่าไซท์ที่สมบูรณ์
 
แม้ว่า “กฟผ.” และ “กระทรวงพลังงาน” จะยืนยันว่า ผลกระทบมีน้อย และมีการแก้ไขป้องกันอย่างดี ยอมทำอุโมงค์ขนถ่านหินลอดป่าชายเลน ยอมติดตั้งเครื่องดักปรอท ยอมลดขนาดเรือขนถ่านหินให้สามารถเข้าถึงท่าเรือโดยไม่ต้องขุดร่องน้ำ
 
แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่สามารถตอบคำถามของคนกระบี่ว่า ทำไมจึงต้อง “ดันทุรังสร้าง” ที่นี่ ซึ่งจะส่งผลต่อนิเวศวิทยา การท่องเที่ยว วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในทุกด้าน
 
เมื่อถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลไม่ชนะ การใช้มวลชนจัดตั้งด้วย “วิชามาร” จึงเป็นอีกไม้ตายสุดท้าย เอารายชื่อคนที่เคยไปร่วมเข้าประชุมกับ กฟผ. รายชื่อคนเคยไปดูงานกับ กฟผ. รายชื่อคนรับแจกของในโอกาสต่างๆ ของ กฟผ. รวมทั้งรายชื่อที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวคะแนน ไปหามาโดยที่ลูกบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ มาประกอบร่างเป็นผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 15,000 รายชื่อ
 
ซึ่งถ้าหากกระทรวงพลังงาน ยอมให้เปิดเผยชื่อตามที่ชาวบ้านฝ่ายคัดค้านขอตรวจสอบรายชื่อนั้น เชื่อว่าจะโกลาหล เพราะพบการแอบอ้างจน กฟผ.หมดความชอบธรรม และเสียคนอย่างแน่นอน
 
กระบี่ ภูเก็ต พังงา ตรัง สตูล รวมถึงระนอง คือ พื้นที่ที่มีศักยภาพที่ควรส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนทั้งโลกต้องมาเยี่ยมเยือน เป็น world class destination ด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความสุขแก่คนท้องถิ่น ตั้งแต่เจ้าของโรงแรมหมื่นล้าน จนถึงคนขายส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ทอด
 
โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมาสร้างที่กระบี่ หากรัฐบาลยังไม่สำนึกในปัญหาโลกร้อน และมลพิษจากถ่านหิน ที่ทำลายชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ควรยอมรับความจริงที่ว่า กระบี่ไม่เหมาะสมใดๆ เลย
 
ความจริงข้อนี้ที่ว่า พื้นที่กระบี่ไม่เหมาะสมโดยสิ้นเชิงนั้น จบแล้วในทางวิชาการ และในทางการตัดสินใจของคนกระบี่ และคนไทย เรื่องนี้ทั้งรัฐบาล กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.ต่างก็รู้ดี แต่ที่ยังไม่ยอมถอย เพราะกลัวว่าจะเกิดปรากฏการณ์โดมิโนของการหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศไทย เพราะถ่านหินสกปรกถูกไล่มาแล้ว ทั้งจากประจวบฯ และนครศรีธรรมราช
 
หากที่กระบี่ สร้างไม่ได้อีก การสร้างที่อื่นก็จะเป็นโจทย์ที่ยากขึ้น การยืนยันจะสร้างที่กระบี่ให้ได้  จึงยืนอยู่บนหลักการข้อเดียวคือ “ความดันทุรังสูง” เท่านั้น
 
ความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดสมองแตกตายได้ ความดันทุรังสูงก็เช่นกัน อาจทำให้รัฐบาลตายได้เช่นกัน “เผด็จการทหาร” ที่ความโหยหาความชอบธรรมอยู่แล้ว จะยิ่งหมดความชอบธรรม ตายไปจากการยอมรับของประชาชน
 
ความสับสนทางนโยบายกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ควรต้องยุติได้แล้ว คนกระบี่เขาสถาปนาแนวทางพึ่งตนเองทางพลังงาน 100% ได้ด้วย โดยใช้ไฟฟ้าจากกากผลผลิตปาล์ม และแสงอาทิตย์ที่ทำได้จริง และได้นำเสนอรัฐบาลไปแล้วด้วย
 
รัฐบาลควรฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวอันดามันอย่างเป็นระบบ ให้เป็นปอด เป็นแหล่งพักผ่อนชื่นชมธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ที่คนทั้งโลกต้องมาเยี่ยมเยือน
 
การยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ คือหมุดหมายของความเจิดจรัสแห่งอันดามัน อันดามันควร Go Green การท่องเที่ยวยั่งยืน คือ การกระจายรายได้ที่จีรังนับพันปี ไม่ใช่ต้องมารับความเสี่ยงจากถ่านหินสีดำ ที่มีอายุของโรงไฟฟ้าเพียง 30 ปี ที่อาจเกิดหายนะที่กู่ไม่กลับโดยไม่จำเป็น
 

กำลังโหลดความคิดเห็น