xs
xsm
sm
md
lg

“หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขี้ขลาดเรื่องคงจบไปแล้ว” ‘ประสิทธิชัย’ แฉ กฟผ.ดันถ่านหินสุดฤทธิ์เพราะ ‘กำไรและคอมมิชชัน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน โพสต์เฟซบุ๊กชำแหละ กฟผ.พาคนไปเชียร์ถ่านหินถึงทำเนียบรัฐบาลเป็นเพราะ ‘กำไร และคอมมิชชัน’ แฉ กฟผ.มีแต่ผลประโยชน์ทับซ้อนใช้ความเป็นรัฐเอื้อเอกชน ชี้หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขี้ขลาดเรื่องคงจบไปแล้ว

วันนี้ (5 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการพยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งชะลอโครงการ โดยประสิทธิชัย เขียนว่า “คำตอบต่อคำถามที่ว่าทำไม กฟผ.จึงพาคนไปเชียร์ถ่านหินถึงทำเนียบรัฐบาล วันที่ 4 ม.ค.60 คำตอบยังคงเป็นเพราะ ‘กำไรและคอมมิชชัน’

ต้องย้อนอธิบายนิดหน่อยว่า กระบวนการสร้างภาพเพื่อทำให้เห็นว่ามีคนสนับสนุนถ่านหินนั้น เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่จัดให้คนสนับสนุนกลุ่มหนึ่งซึ่งทราบว่าเป็นคนที่ทำให้คนกลัว ในแถวท้องถิ่นคอยจัดการคนเห็นต่าง

หลังจากนั้น มีการแอบอ้างรายชื่อ 15,000 รายชื่อ ว่า สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ประกาศระดมคนหนุนถ่านหิน ปรากฏว่าไม่มีใครมา เช่นนั้นเพื่อไม่ให้เสียภาพจึงต้องจัดฉากให้คนขึ้นมาเชียร์โรงไฟฟ้าถ่านหินถึงทำเนียบรัฐบาล คำถามว่าทำไมถึงดิ้นขนาดนี้?

กำไร และคอมมิชชันที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการถ่านหิน และการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมหาศาล ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า กฟผ.ดำเนินกิจการถ่านหินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ฉะนั้น จึงต้องดิ้นรนเพื่อไม่ให้กำไรหายไป จากการที่ทั้งโลกไม่เอาถ่านหิน โดย กฟผ.มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเมื่อตุลาคม 2559 กว่า 1,400 เมกะวัตต์ แต่การดิ้นครั้งสำคัญคงจะอยู่ที่การสัมปทานเหมืองถ่านหินที่มีอยู่จำนวนมากต้องหาทางระบาย

เริ่มต้นจากบริษัทในเครือซึ่ง กฟผ.ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ คือ กฟผ.อินเตอร์ ได้ดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับเหมืองถ่านหิน โดยล่าสุด ได้ใช้เงินถึง 1.7 หมื่นล้าน ถือหุ้นได้เพียง 10-12 เปอร์เซ็นต์ (น่าแปลกที่ถ่านหินกำลังถูกโลกปฏิเสธแต่ กฟผ.กลับกระโดดไปซื้อหุ้น)

จึงจำเป็นต้องหาทางระบายถ่านหินจำนวนมาก แม้ว่าจะไปลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ในเวียดนาม แต่ปริมาณถ่านหินมีจำนวนมหาศาลต้องหาทางระบาย

ยังไม่นับรวมบริษัทลูกที่ชื่อเอ๊กโก ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับเหมืองถ่านหินในอินโดนีเชีย ซึ่งมีสัญญาดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 จนถึง 2581 และแม้ว่าบริษัทแอ๊กโกจะมีการดำเนินการในโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี ที่ระยอง แต่เป็นไปได้ว่าปริมาณถ่านหินยังสามารถระบายสู่โรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่กำลังจะสร้างได้เนื่องจากสัมปทานอันยาวนาน

บริษัทลูกอีกบริษัทชื่อว่า ราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งได้ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง ได้ให้บริษัทในเครือเข้าไปถือหุ้นในกิจการถ่านหินทั้งในลาว และออสเตรเลีย ซึ่งอนาคตหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพีดีพี ราว 7,000 เมกะวัตต์ อาจจะทำให้ถ่านหินเหล่านี้สามารถระบายออกขายได้ในโรงไฟฟ้าใหม่

ยังไม่นับรวมบริษัทเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับถ่านหินอีกหลายบริษัทที่อาจจะได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้นของการขายถ่านหิน หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เฉพาะ 800 เมกะวัตต์ ที่กระบี่

หากมีการก่อสร้าง มูลค่าของการซื้อถ่านหินตลอด 25 ปีประมาณ 1.7 แสนล้าน

และหากมีการเพิ่มกำลังการผลิตจนถึง 8,000 เมกะวัตต์ ตามแผนพีดีพี น่าจะมีมูลค่าราว 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาลที่บริษัทที่สัมปทานถ่านหินไว้แล้ว โดยเฉพาะบริษัทลูกของ กฟผ.สามารถระบายถ่านหินได้ ในทางตรงกันข้าม หากไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้จะประสบต่อการขาดทุน

มากไปกว่านั้นคือ กระแสโลกที่ไม่เอาถ่านหิน ได้ลุกลามไปทั่วทั้งโลก หากสร้างที่กระบี่ไม่ได้การไม่เอาถ่านหินจะลามไปทั่วประเทศรวมทั้งในอาเซียน เท่ากับปิดทางทำมาหากินของบริษัทถ่านหิน ในทางตรงกันข้ามหากสร้างที่กระบี่ได้ จะมีข้ออ้างไปทั่วทั้งอาเซียน ว่าแม้เป็นเมืองท่องเที่ยว แม้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ ยังสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

ความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่จึงดิ้นสุดชีวิต ประกอบกับคำสั่งที่สร้างปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดทางให้ กฟผ.ดิ้นได้ไปเรื่อยๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขี้ขลาดเรื่องคงจบไปแล้ว แต่พอจะเข้าใจได้ว่ากลุ่มทุนพลังงานนั้นยิ่งใหญ่ปานใด...

การดิ้นครั้งนี้ของ กฟผ.จำเป็นต้องขนคนมา กทม.เพราะแม้ในพื้นที่ที่คิดว่ากุมสภาพได้คือ อ.เหนือคลอง คนเขาก็ไม่เอาด้วย ประกาศรวมพลก็ไม่มีใครมา

การกุมสภาพของกลุ่มพลังงานนั้นยังดำเนินต่อไปภายใต้ประโยชน์หลายแสนล้าน ที่เขียนกติกาขึ้นมาเอาเปรียบคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะค่าความพร้อมจ่าย เซ็นสัญญาแล้วไม่ผลิตก็ต้องจ่าย ไฟล้นเกินกว่า 10,000 เมกะวัตต์

ทำให้ปี 2559 คนไทยต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายไป 90,000 ล้านบาท กลุ่มทุนพลังงานนั้นมีไม่กี่กลุ่ม กฟผ.สร้างบริษัทลูกขึ้นมา แล้วให้เอกชนมาถือหุ้น มันคือความทับซ้อนในผลประโยชน์ใช่หรือไม่?

อันนี้เป็นเงื่อนงำสำคัญมาก ความทับซ้อนในผลประโยชน์ ใช้ความเป็นรัฐเอื้อเอกชน... วันนี้จึงดิ้นจะสร้างถ่านหินให้ได้ ภายใต้ประโยชน์อันมหาศาล

กระแสโลกไม่แคร์ ชีวิตคนไม่สนใจ ขอแค่กำไรและคอมมิชชัน ไม่ใช่ไฟไม่พอ แต่ต้องสร้างเพิ่ม มากเท่าไหร่ก็กำไรเท่านั้น เพราะบังคับเก็บค่าไฟเอาจากกระเป๋าคนไทยที่แพงกว่าควรจะเป็น (ภาพโดย ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น