xs
xsm
sm
md
lg

อย่าปล่อย “เหลือบ” หากินบน “ความเสดสา” แก้น้ำท่วมซ้ำซากต้อง “แผนชัด-จัดบูรณาการทุกหน่วย” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
----------------------------------------------------------------------------------------
 
อุทกภัยระลอกแรกที่เกิดขึ้นในเกือบทุกจังหวัดของภาคใต้ เพิ่งจะผ่านพ้นไปเพียง 2 สัปดาห์ ขณะที่กระบวนการ “ปักกวาด สิ่งตกค้างที่เกิดขึ้น รวมทั้งกระบวนการ “เยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนั้นยังไม่ทันได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
 
อุทกภัยระลอกที่สองก็เกิดขึ้นซ้ำในหลายจังหวัดของภาคใต้อีกครั้ง ซ้ำยังเกิดขึ้นในห้วงเทศกาลการส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ โดยฝนเริ่มกระหน่ำในพื้นที่ จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.พัทลุง ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2559 เป็นต้นมา ก่อนที่จะตกหนักต่อเนื่องข้ามสู่ปี 2560 แถมกลุ่มฝนได้กระจายเข้าสู่ จ.ตรัง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฏร์ธานี จนประชาชนในหลายพื้นที่ต่างได้รับความเดือดร้อน และทุกข์ยากจากน้ำท่วมในครั้งนี้
 
อุกทกภัยครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของ “พายุนอกฤดูกาล” แต่เป็น “หน้าฝนตามปกติ ของภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของฤดูกาลที่ภาคใต้จะต้องมีฝน และต้องมีน้ำท่วมทุกปี เพียงแต่ปีนี้หน้าฝนของภาคใต้มาช้ากว่าฤดูกาลประมาณ 1 เดือน ฤดูฝนของภาคใต้จึงเลื่อนจากเดือน พ.ย. มาเป็นปลายเดือน ธ.ค. ที่ต่อเนื่องข้ามปีไปถึงเดือน ม.ค. ซึ่งกลายเป็นเรื่องของ “ฝนข้ามปี ไปในที่สุด
 
อุทกภัยระลอกที่ 2 แม้จะไม่มี “ท่อนซุง” ไหลมากับสายน้ำ แม้จะมีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 3 ราย แต่ก็สร้างความสูญเสีย และสร้างความเดือดร้อนอย่างกว้างขวาง เส้นทางรถไฟถูกตัดขาดหลายแห่ง ถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านถูกตัดขาด หรือถูกน้ำท่วมสูงจนใช้สัญจรไม่ได้ บ้านเรือน เรือกสวน ไร่ นา ที่จมใต้บาดาลนั้น หมายถึง “ความยากจน ที่ต้องเกิดขึ้นหลังน้ำลดอย่างแน่นอน
 
พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในครั้งนี้คือ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.พัทลุง จ.ตรัง และ จ.นครศรีธรรมราช โดยหลายพื้นที่จะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่อยู่ติดกับเทือกเขา ซึ่งเป็นที่มาของ “น้ำป่า ที่ไหลบ่าอย่างรุนแรงเข้าสู่ที่ราบลุ่ม
 
ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า น้ำที่ไหลเข้าถล่มภาคใต้ในครั้งนี้ แม้ไม่มี “ท่อนซุงไหล” ผสมปนเปลงมาด้วย แต่ก็คือ “น้ำป่า” นั่นเอง
 

 
สำหรับเทือกเขาในอดีตนั้น เป็นป่าธรรมชาติมีความสามารถในการ “ซึมซับ น้ำฝนได้ดี และนอกจากนั้นยังเป็น “กำแพง ธรรมชาติในการกักกั้นน้ำ ชะลอน้ำให้ลงสู่ที่ราบลุ่มอย่างช้าๆ เพราะเป็นเทือกเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ หรือต้นหญ้าที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
 
แต่หลังจากที่ป่าไม่ถูกบุกรุกกลายเป็นสวนยาง สวนปาล์ม สวนไม้ผล และในรูปแบบอื่นๆ ด้วยกรรมวิธีของการ “ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เป็น “ทิวแถว และมีการทำลาย “วัชพืช จนต้นไม้ และต้นหญ้าตามธรรมชาติไม่เหลืออยู่ เมื่อฝนตกลงมาพื้นที่เหล่านั้นจึงไม่สามารถซึมซับน้ำฝน และไม่สามารถที่จะชะลอการไหลของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำได้อีกต่อไป น้ำฝนทุกหยดจึงรวมตัวกันไหลหลั่งแบบถล่มทลายลงสู่ที่ราบ และพื้นที่เหล่านั้นก็คือ เรือกสวนไร่นา และบ้านเรือนของประชาชนนั่นเอง
 
“มวลน้ำ” มหาศาลที่ “ไหลหลาก แบบไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวชะลอ เมื่อมาพบกับถนนสายหลักๆ ซึ่งเป็นถนนมที่เชื่อมระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน ซึ่งในการก่อสร้างผู้รับผิดชอบจะออกแบบให้ถนนสูงกว่าบ้านเรือน เพื่อป้องกันน้ำท่วมในหน้าฝน โดยที่มี “ท่อลอด เพื่อการระบายน้ำที่ไม่เพียงพอ ถนนทุกสายจึงกลายเป็น “เขื่อนกั้นน้ำ” อย่างดี ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเล
 
ดังนั้น แม้ว่า “กายภาพ” ของภาคใต้จะมีทะเลขนาบทั้ง 2 ด้าน แต่ก็แทบจะไม่ได้ช่วยให้กระระบายน้ำดีขึ้น
 
ปัญหาต่อมาคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. แต่ก็แทบไม่ได้ “ใส่ใจ ในเรื่องของการ “ขุดลอกคูคลอง” จนทำให้สายน้ำลำคลองที่เป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่ต่างตื้นเขิน ไม่สามารถที่จะรับน้ำฝนได้เหมือนในอดีต เช่นเดียวกับแม่น้ำสายหลักๆ เช่น แม่น้ำสุไหงโก-ลก แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำเทพา คลองอู่ตะเภา และแม่น้ำสำคัญๆ ใน จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช ก็ขาดการเอาใจใส่ในการขุดลอกเพื่อให้สามารถรองรับมวลน้ำในฤดูฝนได้
 

 
รวมทั้งพื้นที่ราบลุ่มที่ในอดีตเป็นที่ว่างเปล่าเป็น “พื้นที่รับน้ำ” ก่อนที่จะหลากเข้าท่วมตัวเมือง ปัจจุบันได้ถูกนำไปพัฒนาด้วยการ “ถมที่ เพื่อสร้างหมู่บ้าน สร้างโรงงาน สร้างสิ่งก่อสร้างหลากหลายรูปแบบ จนพื้นที่รับน้ำที่เคยมีได้หมดไป และพื้นที่เหล่านั้นก็ได้กลายเป็น “กำแพง” ในการขวางทางไหลของน้ำ เป็นตัวเร่งให้ให้มวลน้ำเปลี่ยนทิศทาง จนสร้างความสูญเสียให้มากยิ่งขึ้น
 
ในส่วนของแผนในการรับมือต่ออุทกภัยตามฤดูกาลนั้น แม้จะมีอยู่จริงในทุกจังหวัด ทั้งในระดับ “ท้องที่” และ “ท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ แต่ แผนก็คือแผน ซึ่งสำหรับประเทศไทยยังขาดความพร้อม ขาดการบูรณาการ เมื่อเกิดอุกทกภัยจริงๆ หน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดคือ “ท้องถิ่น” จึงยังไม่มีขีดความสามารถในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งในการอพยพ และการอยู่ การกิน เพราะขาดทั้งยานพาหนะ และงบประมาณ
 
ทุกอย่างจึงต้อง “รอ” หน่วยงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย “จังหวัด” และ “ส่วนกลาง” ในการส่งคน ส่งเครื่องมือ ส่งยานพาหนะ และส่งเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าคลี่คลายความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้น
 
โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือ การช่วยเหลือที่ “ไปไม่ถึงผู้เดือดร้อน” ทุกคน แต่เป็นการช่วยเหลือที่ “กระจุกตัว” ซึ่งเป็นไปตามความสามารถของท้องถิ่นในการเลือกพื้นที่ที่ง่ายต่อการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็น “มวลชนเป้าหมายของผู้นำ”  เช่นเดียวกับหลังน้ำลด เมื่อมีการสำรวจผู้เดือดร้อนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ก็จะมีการร้องเรียนในเรื่อง “สองมาตรฐาน” ของการช่วยเหลือเกิดขึ้นมาโดยตลอด
 
วันนี้แม้ว่าปัญหา “การตัดไม้ทำลายป่า” อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักของการเกิดอุทกภัย แต่ปัญหาของ “การบุกรุก” ที่ดินเพื่อสร้างสวนยาง สวนปาล์ม และอื่นๆ เพื่อใช้ในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว นั่นก็คือปัญหาหนึ่งของการทำให้การป้องกันอุกทกภัยไม่สามารถทำกันได้ รวมทั้งปัญหาการขาดการพัฒนาแม่น้ำ ลำคลอง และทะเลสาบ เพื่อให้รองรับมวลน้ำ
 
นี่คือ 2 ปัญหาใหญ่ที่รัฐจะต้องทบทวนในเรื่องของการแก้ปัญหา “ซ้ำซาก” ของอุทกภัยในภาคใต้
 

 
ที่น่าสังเกตคือ หลายพื้นที่เป็น “พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐไม่เคยมีแผนในการแก้ปัญหาของความซ้ำซากอย่างถาวร โดยเฉพาะ “เส้นทางรถไฟ” และ “ถนน” จำนวนมากที่กลายเป็น “เขื่อน และหลังจากที่น้ำท่วมผ่านไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น “การรถไฟฯ” และ “กรมทางหลวง มักจะมีแผนแก้ไขด้วยการ “เพิ่มช่องทางระบายน้ำ” เพื่อที่ในปีต่อไปจะได้ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างสะดวก ซึ่งก็จะเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ได้ผลก็จริง
 
การแก้ปัญหาอุกภัยของภาคใต้ต้องมี “แผนที่ชัดเจน” และที่สำคัญต้องมี “การบูรณาการของทุกหน่วยงาน” ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่าง “กระจัดกระจาย” อย่างที่เป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
 
อีกทั้งเรื่องการแก้ปัญหาอุทกภัยของภาคใต้ “รัฐบาล” หรือหน่วยงาน “ส่วนกลาง ต้องเร่งดำเนินการ เพราะความรุนแรงจากภัยธรรมชาติมีแต่ที่จะรุนแรงมากขึ้นทุกปี  ถ้ายังไม่มี แผนงานที่ชัดเจน ยิ่งนานวันความสูญเสียทั้งกับทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนก็ยิ่งจะทวีมากยิ่งขึ้น
 
ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ แก้ปัญหาอุทกภัยแบบ “รอให้เกิด แล้วแก้ตามหลัง” ด้วยการ “เบิกงบ” หรือ “ตั้งงบ” ซื้อสิ่งของแจกจ่าย บางหน่วยงานเห็นน้ำท่วมแล้วเร่งรีบสั่งซื้อเรือท้องแบน แล้วเรือมาถึงก็เป็นช่วงหลังน้ำแห้ง เป็นการ “ผลาญงบ” เพื่อรับ “เงินทอน” เป็นการ “หากิน” บนความ “เสดสา” ของประชาชน
 
ดังนั้น เรื่อง “น้ำท่วม” ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบันต่างก็ยังเป็น “อาหารจานโตอันโอชะ”  ของ “เหลือบ” ในเครื่องแบบที่กลายเป็น “ความซ้ำซาก” ของประเทศนี้ไปแล้ว
 
วันนี้ยังดีที่ “กองทัพความที่ 4” ยังเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม ทั้งในเรื่องของเครื่องจักร ยานพาหนะ และกำลังพลในการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเบื้องต้น อย่างน้อยก็สร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้เดือดร้อน และลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการช่วยเหลือของหน่วยงานในพื้นที่ไปได้พอสมควร
 
ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ แก้ปัญหาแบบ “รอให้เกิด แล้วแก้ตามหลัง” ด้วยการ “ตั้งงบ” ซื้อสิ่งของแจกจ่าย บางหน่วยงานเห็นน้ำท่วมแล้วเร่งรีบสั่งซื้อเรือท้องแบน เป็นการ “ผลาญงบ” เพื่อรับ “เงินทอน” เป็นการ “หากิน” บนความ “เสดสา” ของประชาชน ดังนั้น เรื่อง “น้ำท่วม” ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน ต่างก็ยังเป็น “อาหารจานโตอันโอชะ”  ของ “เหลือบ” ในเครื่องแบบที่กลายเป็น “ความซ้ำซาก” ของประเทศนี้ไปแล้ว
 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น