นราธิวาส - เลขาธิการ ศอ.บต. ลุยช่วยน้ำท่วมระแงะ เผยมาเลย์เตรียมปล่อยน้ำเขื่อนตอนบน ประชาชนบริเวณแม่น้ำสุไหงโก-ลก จะได้รับผลกระทบ เตือนให้เฝ้าระวัง และอย่าประมาท
วันนี้ (3 ม.ค.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต.ได้เดินทางไปที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอระแงะ จ.นราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยมี นายอุรณ ศรีใส นายอำเภอระแงะ ให้ต้อนรับ และบรรยายสรุปถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ซึ่งมีโรงเรียนน้ำท่วมขังรวม 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านแกแม โรงเรียนบ้านกอแนะเหนือ และโรงเรียนวัดร่อน ซึ่งมีระดับน้ำสูงเกือบ 1 เมตร และยังมีปริมาณน้ำที่เอ่อล้นคลองตันหยงมัส ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากน้ำป่าไหลหลาก
ทั้งยังมีมวลน้ำลงมาจากพื้นที่ อ.จะแนะ ไหลมาสมทบกับปริมาณน้ำฝนจำนวนมากจนล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ อ.ระแงะ ทำให้ถนนสายตันหยงมัส-ป่าไผ่ ระดับน้ำท่วมถนนเป็นระยะทาง 150 เมตร ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 30 ซม. ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 7 ตำบล 35 หมู่บ้าน จำนวน 1,683 ครัวเรือน 5,049 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ ด.ญ.ซาลียา ยะโก๊ะ อายุ 10 ปี สาเหตุไปเล่นน้ำ และจมน้ำเสียชีวิต
ทั้งนี้ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวยืนยันต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ที่ห้องประชุมกว่า 500 คน ซึ่ง ศอ.บต. พร้อมที่จะสนับสนุนจังหวัดในการช่วยเหลือเบาเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งพื้นที่ระแงะเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีประชาชนเดือดร้อนจากน้ำท่วมมากที่สุด พร้อมกันนี้ได้แจกอาหารกล่อง “ฮาลาล” พร้อมรับประทานได้ทันที
จากนั้น ทางเลขาธิการ ศอ.บต.ได้เดินทางต่อไปยังบริเวณโรงเรียนบ้านแกแม ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วม พร้อมเดินลุยน้ำเพื่อมอบอาหารกล่องเพื่อให้ได้รับประทาน และมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัยโดยรอบบริเวณดังกล่าว
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ในภาพรวมอุทกภัยระลอกที่ 2 ในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส น้ำท่วมขังมากว่าระลอกแรก มีพื้นที่เสียหายเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีพื้นที่อุทกภัยดินถล่มตามที่ได้รับรายงาน 9 อำเภอ จาก 13 อำเภอ อย่างไรก็ตาม กรณีมีข่าวทางโซเชียลว่า เขื่อนบางลาง จ.ปัตตานี จะมีการปล่อยน้ำในเขื่อนนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เขื่อนบางลางยังมีศักยภาพรับน้ำได้อีกจำนวนมาก ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดระบายน้ำในระยะนี้ จึงขอให้ประชาชนชนอย่าตื่นตระหนกจนเกิดเหตุ
ในส่วนสื่อมาเลเซียได้รายงานข่าว ดาโตะสรี มุสตาฟา โมฮำมัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์กรณีเขื่อนที่ญือลี รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้ทำการเปิดเขื่อนเพื่อระบายน้ำที่ฝังมาเลเซียนั้น นายศุภณัฐ กล่าวว่า หากมาเลเซียเปิดเขื่อนในบริเวณทางชายแดนไทย คือ อ.แว้ง อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะเส้นทางแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่มีการเชื่อมกัน สืบเนื่องจากมาเลเซียอยู่ตอนบนเหนือน้ำ เมื่อเปิดเขื่อนน้ำจะไหลลงที่ราบ และที่ลุ่ม ซึ่งพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าวจะได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่มาสบทบ ทำให้ปริมาณน้ำมากขึ้น ดังนั้น ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ และรับฟังข่าวสารทุกระยะ และควรมีความพร้อมไม่ประมาท หากมีความจำเป็น และมีน้ำท่วมสูงฉับพลัน สามารถขอความช่วยเหลือต่อฝ่ายปกครอง และทหารในพื้นที่ได้ทันที
สรุปสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยจังหวัดนราธิวาส ล่าสุด ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วทั้ง 13 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 209 หมู่บ้าน 52 ตำบล ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 11,727 ครัวเรือน รวม 47,282 คน ถนนสายหลัก และสายรองถูกน้ำท่วม 67 สาย สะพานและคอสะพาน ถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย 7 แห่ง ดินภูเขาสไลด์ลงมาขวางถนน 2 แห่ง โรงเรียนถูกน้ำท่วม 2 โรง บ่อเลี้ยงปลาได้รับความเสียหาย 8 บ่อ พื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมขัง 275 ไร่ และมี ด.ญ.ซีลียา ยะโก๊ะ อายุ 10 ขวบ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ อ.ระแงะ ได้ลงเล่นน้ำกับเพื่อนๆ ที่คลองในหมู่บ้าน แล้วถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดจมไปกับกระแสน้ำ และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ส่วนพื้นที่ที่ถือว่าน้ำท่วมขังหนัก และวิกฤตที่สุดในขณะนี้มีด้วยกัน 3 อำเภอ คือ 1.อ.สุไหงโก-ลก ที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำป่าไหลทะลักส่งสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลก จนล่าสุด มีปริมาณน้ำล้น และสูงกว่าตลิ่ง 3.30 เมตร และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหนักสุด คือ ชุมชนท่าประปา และชุมชนหัวสะพาน 2.อ.รือเสาะ ที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำสายบุรี ที่มีปริมาณน้ำล้นและสูงกว่าตลิ่ง 1.20 เมตร และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหนักสุด คือ บ้านบาตง ม.3 ต.บาตง และ 3.อ.ระแงะ ซึ่งได้รับอิทธิพลของน้ำป่าที่ไหลมาจากเชิงเขาหลังหมู่บ้านสาเมาะ ม.1 ต.บองอ เพื่อระบายลงสู่คลองตันหยงมัส