xs
xsm
sm
md
lg

ชนกลุ่มน้อยเซมังพบภาชนะโบราณ “ไหสี่หู” กลางป่าเทือกเขาบรรทัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - ชนกลุ่มน้อยเซมัง หรือซาไก พบไหสี่หูในถ้ำกลางป่าลึกบนเทือกเขาบรรทัด จ.สตูล ชาวบ้านเชื่อน่าจะมีสมบัติมากกว่าไหสี่หู พร้อมเตรียมประสานสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล เพื่อส่งทีมเข้าสำรวจ

วันนี้ (29 ธ.ค.) นางชนาภา ยอดราชา อายุ 50 ปี อาศัยปลูกบ้านอยู่ใกล้กับป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาบรรทัด ที่ติดเขตรอยต่อระหว่างหมู่ที่ 9 บ้านราวปลา ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล อีกทั้งเป็นรอยต่อพื้นที่จังหวัดพัทลุง ได้นำไหสี่หูรูปทรงโบราณ นำมาให้ชาวบ้าน และนายประเสริฐ แซ่อึ้ง ส.อบจ.สตูล ในพื้นที่ทุ่งหว้า ร่วมกันดู ก่อนจะสอบถามที่มาที่ไปทราบว่ามีกลุ่มเซมัง หรือซาไก ออกมาจากป่าได้มาเล่าว่า เข้าไปในถ้ำในช่วงขณะไล่สัตว์เข้าไปในถ้ำติดเขารอดไปมาได้ ประมาณช่วงกลางถ้ำได้พบเศษถ้วยชาม และไห กลุ่มเซมังจึงไม่ได้เก็บกลับมา แต่มาเล่าให้ฟัง ตนเองจึงเอ่ยปากจ้างให้ซาไกเข้าไปอีกครั้ง และจ้างเป็นเงิน 100 บาท กลุ่มเซมังจึงเข้าไปเก็บไหกลับมาให้
 

 
นางชนาภา กล่าวอีกว่า กลุ่มเซมังเก็บชิ้นส่วนมาให้ ตนเองกับลูกจึงใช้กาวต่อกรงนกมาประดิษฐ์ต่อกันจนเป็นทรง แต่ก็ยังขาดหายไปบางส่วน และไม่ได้บอกใครจนเกิดฝันแปลกว่าๆ เห็นสิ่งของมากมาย จึงคิดว่าจะเป็นเหตุมาจากเก็บของในถ้ำมา จึงไปปรึกษาเพื่อนบ้าน และแจ้งผู้สื่อข่าวมาตรวจสอบ โดยตนเองไม่ต้องการอะไร เพียงอย่างให้ตรวจสอบว่าไหสี่หูนี้มาอยู่ในพื้นที่สตูลได้อย่างไร

นายประเสริฐ แซ่อึ้ง ส.อบจ.ในพื้นที่ทุ่งหว้า กล่าวว่า อำเภอทุ่งหว้า อดีตเป็นเมืองท่าเรือสำเภาขนาดใหญ่ เป็นเมืองท่าสินค้า คนจีน ชาวต่างชาติจะมาขึ้นสิ่งของ เครื่องค้าขายที่นี่ในสมัยก่อน และที่นี่เป็นเส้นทางป่าซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ไหสี่หู และสิ่งของมากมายตามคำบอกเล่าของกลุ่มเซมัง ที่นำมาให้ชาวบ้านน่าจะมีอยู่อีกมาก โดยตนเองจะลองไปปรึกษาทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล เพื่อส่งทีมสำรวจตามคำบอกเล่าของกลุ่มเซมังอีกครั้ง
 

 
สำหรับข้อมูลประวัติของไหสี่หู พบว่า ในสมัยอยุธยามีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ และสำคัญอยู่แหล่งหนึ่งคือ ที่บริเวณใกล้แม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “แหล่งเตาแม่น้ำน้อย” นักโบราณคดีอธิบายว่า ภาชนะดินเผาที่โดดเด่นจากแหล่งนี้คือ “ไห” ที่มีห่วงดินเผาปั้นติดอยู่ที่ไหล่ภาชนะ จำนวน 4 ห่วง หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ไหสี่หู” ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญในสมัยอยุธยาที่ส่งออกไปจำหน่ายบริเวณทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะบริเวณแปซิฟิก 

ดังพบหลักฐานในแหล่งเรือจมกลางอ่าวไทย ซึ่งได้บรรทุก “ไหสี่หู” จำนวนมากเพื่อส่งออกไปจำหน่าย แต่กลับล่มลงเสียก่อน รวมทั้งยังพบอยู่ตามชุมชนโบราณในหมู่เกาะต่างๆ เช่น ที่เกาะชวา บรูไน เกาะซาบาห์ นอกจากนี้ ยังพบไกลไปถึงที่ญี่ปุ่นด้วย โดยไหสี่หูนี้ถือเป็นโบราณวัตถุสำคัญที่แสดงถึงการเชื่อมโยงทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างโลกภายนอกกับสยามได้อย่างชัดเจน (ที่มาของข้อมูล http://www.museum-press.com/ )
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น