xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านวางซั้งกอสร้างบ้านให้ปลา เพื่อความอุดมสมบูรณ์ยั่งยืนที่อ่าวปากบารา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพ  Greenpeace Thailand
 
สตูล - ประมงพื้นบ้านทำปะการังเทียม “วางซั้งกอ สร้างบ้านให้ปลา” เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ยั่งยืน ที่อ่าวปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว

วันนี้ (10 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมการวางซั้งกอ สร้างบ้านให้ปลา อ่าวปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เกิดจากความร่วมมือในท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ซึ่งมีการจัดเป็นประจำทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วนั้น โดยมีการจัดขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ รณรงค์ให้ชุมชนตลอดจนผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบริหารจัดการรักษาทรัพยากรชายฝั่ง โดยกิจกรรมจัดขึ้นที่ท่าเรืออ่าวนุ่น เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เพื่อสร้างความมีร่วมเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน กิจกรรมการวางซั้งกอ สร้างบ้านให้ปลา เป็นมาตรการการอนุรักษ์สัตว์น้ำทะเล ที่ดำเนินการให้ช่วงฝ่ายมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ต้นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฤดูฝูงสัตว์ทะเลอันดามันเข้าอ่าวปากบารา เข้าใกล้ฝั่งเพื่อวางไข่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
 
ขอบคุณภาพ  Greenpeace Thailand
 
“การวางซั้งกอ” หรือบ้านปลา เป็นกิจกรรมที่ชุมชนให้การยอมรับว่า สามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ สามารถป้องกันการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่จะรุกเข้ามาในเขตพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นที่หลบภัยสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ กิจกรรมในครั้งนี้จะใช้เวลาในการวางซั้งกอเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากซั้งกอ จำนวน 200 ต้น วางใน 3 จุด บริเวณทะเลนับจากตะรุเตา เข้ามาฝั่งแผ่นดินใหญ่ โดยใช้วัสดุธรรมชาติคือ ไม้ไผ่ และทางมะพร้าว ซึ่งดำเนินการโดยชุมชน สมาคมประมงพื้นบ้าน ต.ปากน้ำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานราชการ เอกชน นักเรียน นักวิชาการ กลุ่มรีฟกาเดียน และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับพื้นที่มีการเลือกสร้างบ้านปลามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นรอยต่อระหว่าง 2 อุทยานฯ คือ อุทยานฯ ตะรุเตา และอุทยานฯ เภตรา จากการศึกษาพบว่า เป็นพื้นที่มรดกอาเซียน และเป็นพื้นที่มีศักยภาพที่อยู่ระหว่างเสนอเป็นมรดกโลกได้ เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และโดดเด่นคือ ความอุดมสมบูรณ์สูงกว่าพื้นที่อื่น หาดปากบารา กลับพบว่า เป็นพื้นที่ที่ทรงคุณค่าทั้งด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรที่ไม่มีที่ไหนเหมือน การสร้างบ้านปลา ในวันนี้ นอกจากจะเป็นกิจกรรมการอนุรักษ์สร้างถิ่นอาศัยให้สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการแสดงพลังของชุมชน และทุกภาคส่วน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า จะช่วยกันปกป้อง และส่งต่อทรัพยากรที่ปากบาราแห่งนี้ให้ถึงมือลูกหลานต่อไป
 
ขอบคุณภาพ  Greenpeace Thailand
 
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ชุมชน ชาวประมง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการ ในการวางแผนเตรียมอุปกรณ์ดำน้ำสำรวจจุด ดำเนินการวางซั้งกอ มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดให้มีเวทีวิชาการเสวนา “ซั้งกอ” แนวทางการจัดการทรัพยากรทะเลสตูลให้ยั่งยืน ตามรอยพ่อ รวมถึงการกำหนดมาตรการ กติกา การเฝ้าระวัง ศึกษา สำรวจการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทั้งก่อน และหลังการวางซั้งกอ ด้วยหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟู และการจัดทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งให้ยั่งยืนต่อไป

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการวางซั้งกอ สร้างบ้านให้ปลา นั้นเป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ การวางซั้งกอ เป็นเสมือนการทำปะการังเทียมให้ปลาให้วางไข่ ได้เพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน ด้วยการนำซั้งกอไปวางยังจุดที่เหมาะสม
 
ขอบคุณภาพ  Greenpeace Thailand
 
นายอัสรีย์ หมีนหวัง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า การรวมตัวกันเพื่อที่จะทำซั้งกอสร้างบ้านให้ปลานั้น เนื่องจากพี่น้องชาวประมงพื้นที่คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรจะเดินหน้าร่วมกันในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง โดยเฉพาะ สัตว์น้ำ ที่นับวันจะเหลือน้อยลงทุกทีแล้ว จึงได้ร่วมมือกับหลายๆ ฝ่าย ทำกิจกรรมสร้างบ้านให้ปลาขึ้น โดยได้ทำเป็น 3 จุดใหญ่ๆ บริเวณเกาะเขาใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีปลาชุกชุม และเป็นที่วางไข่ของปลาหลากชนิด จึงได้เลือกเป็นสถานที่วางซั้งกอ หรือบ้านปลา และรายได้ในการจัดกิจกรรมส่วนหนึ่งมาจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมอบเงินส่วนพระองค์ 4 แสนบาท ยิ่งสร้างความตื้นตันใจที่พระองค์ต้องการให้พวกเราช่วยกันปกป้อง และสร้างแหล่งอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป

การทำซั้ง ทำกันหลากหลายรูปแบบ บางพื้นที่ทำเป็นพุ่มลอยน้ำ บางแห่งใช้แหเก่า อวนเก่า ผูกกับไม้ไผ่ แล้วทิ้งลงทะเล ดังนั้น ส่วนประกอบหลักๆ ที่ขาดไม่ได้มีอยู่ 3 อย่าง คือ ไม้ไผ่ เชือก และถุงทราย หรือแท่งปูน และทางมะพร้าว ส่วนองค์ประกอบอื่นที่จะช่วยก่อรูปให้เป็นซั้งนั้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ ว่าจะเลือกใช้สิ่งใด แต่สำหรับชาวประมงเลือกใช้ “ทางมะพร้าว” เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อทิ้งลงทะเลแท่งปูนจมลงต้นไม้ไผ่ และทางมะพร้าวจะดิ่งจมลงใต้ทะเล และตั้งขึ้นเป็นต้นไม้ที่อยู่ใต้น้ำ
 
ขอบคุณภาพ  Greenpeace Thailand
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น