ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรใน จ.สงขลา หันมาทำสวนมะลิทั้งปลูกในดิน และในกระถาง แซมด้วยต้นจำปา สามารถทำเงินได้คู่กันต่อเนื่องตลอดทั้งปี ดูแลง่าย ราคาดี ตลาดยังต้องการสูง
วันนี้ (30 พ.ย.) ที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เกษตรกรหลายรายได้หันมาปลูกมะลิเป็นอาชีพหลัก ทั้งปลูกในดิน และในกระถาง สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องเกือบทั้งปี และมีราคาดี เช่น ที่สวนของ นายกมล ผ่องใส อายุ 58 ปี ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 6 ต.บ่อดาน อ.สทิงพระ จากเดิมที่เคยยึดอาชีพปลูกผัก แต่เนื่องจากรายได้ไม่แน่นอน และยังถูกกดราคา รวมทั้งปัญหาเรื่องศัตรูพืชรบกวน
นายกมล จึงแปลงที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ มาปลูกมะลิพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม จำนวน 1,000 ต้นแทน และปลูกมานานเกือบ 5 ปี ทั้งปลูกในดิน และระยะหลังที่เริ่มหันมาปลูกในกระถางซึ่งดูแลง่ายกว่า โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนหากมีฝนตกน้ำท่วมขังก็สามารถเคลื่อนย้ายต้นมะลิหนีน้ำได้ทันที เพราะหากถูกน้ำท่วมนานๆ จะทำให้ต้นมะลิได้รับความเสียหายได้
นายกมล บอกว่า สำหรับดอกมะลิทั้ง 5 ไร่ หากเป็นช่วงปกติจะเก็บขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม และส่งขายให้แก่แม่ค้าที่ อ.เมืองสงขลา สูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีไม่แพ้พืชชนิดอื่น แต่การดูแลง่ายกว่า เพียงแค่รดน้ำตามสภาพอากาศ และใส่ปุ๋ยเดือนละ 1-2 ครั้ง และดายหญ้าในแปลงไม่ให้รกจนเกินไป
แต่ปัญหาหลัก และปัญหาใหญ่เพียงอย่างเดียวของการปลูกมะลิ คือ ในช่วงหน้าฝนของภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม มะลิจะออกดอกน้อย เนื่องจากในช่วงนี้จะไม่ค่อยมีแสงแดด จากที่เก็บได้วันละประมาณ 10 กิโลกรัม เหลือเพียงแค่ 1 กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรจะต้องปรับตัวเนื่องจากส่วนต่างของรายได้จะหายไป แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงฤดูฝนไปแล้วก็ออกดอกเก็บขายได้ตลอดเกือบทั้งปีหากดูแลดี
และที่สวนของ นายกมล นอกจากจะปลูกมะลิแล้ว ยังปลูกต้นจำปาอีกกว่า 20 ต้น ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากต้นจำปา ออกดอกได้ดีในช่วงฤดูฝน ซึ่งสามารถช่วยทดแทนรายได้ในส่วนที่ขาดหายไปของดอกมะลิได้ โดยดอกจำปา ราคาขายอยู่ที่ดอกละ 50 สตางค์ สำหรับตลาดของดอกมะลิ และดอกจำปานั้นตลาดยังต้องการสูง และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรที่จะนำไปปลูกแซมกับพืชอื่น หรือทำสวนมะลิอย่างเดียวก็ได้