ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นอภ.สะเดา เปิดโครงการส่งเสริมการทำนาโยนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของการทำนาโยนในสะเดา ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท
วันนี้ (23 พ.ย.) ที่บ้านตะโล๊ะ หมู่ 8 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา นายบุญพาศ รักนุ้ย นายอำเภอสะเดา เปิดโครงการส่งเสริมการทำนาโยนเพื่อลดต้นทุนการผลิต ขึ้นเป็นที่แรกของ อ.สะเดา และเป็นการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย โดยมีทั้งชาวบ้าน นักเรียน และข้าราชการเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีการยืนแสดงความอาลัย 89 วินาที เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
สำหรับโครงการส่งเสริมการทำนาโยนเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นการสาธิตการทำนาโยน ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการทำนา เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการดำนาซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม และการทำนาหยอดด้วยเครื่องจักร ซึ่งเป็นวิธีการสมัยใหม่เป็นการผสมผสานรูปแบบการทำนาทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน
นายบุญพาศ รักนุ้ย นายอำเภอสะเดา กล่าวว่า พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พันธุ์ข้าวปัตตานี เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวเหนียวดำ ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งในพื้นที่บ้านตะโล๊ะ มีเนื้อที่นาประมาณ 270 ไร่ และที่เกษตรกรหันมาทำนาปลูกข้าวประมาณ 136 ไร่ จากที่ก่อนหน้านี้ ถูกทิ้งให้รกร้าง และต่อมา ชาวบ้านในหมู่บ้านได้รวมตัวกันฟื้นฟู และอนุรักษ์การทำนาไม่ให้สูญหายไป มีสมาชิกทั้งหมด 35 คน ซึ่งผลผลิตในระยะแรกยังเน้นการบริโภค หากเหลือก็ส่งขายในนามกลุ่มผลิตข้าวบ้านตะโล๊ะ แต่ส่วนใหญ่จะขายในรูปแบบของที่ระลึก โดยนำไปวางขายตามหน่วยงานราชการ ราคาถุงละ 50-70 บาท และการปลูกข้าวยังทำได้ปีละครั้งเพราะต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก
นายอำเภอสะเดา ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของวิธีการทำนาโยนนั้น ทางเจ้าหน้าที่เกษตรได้มาแนะนำให้แก่เกษตรกรชาวนาที่บ้านตะโล๊ะ เป็นที่แรกใน อ.สะเดา เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความรวดเร็วในการปลูก นอกเหนือจากการทำนา และใช้เครื่องจักรปลูกข้าว ยังเป็นการปรับใช้เทคโนโลยีกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน และต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร สำหรับผลผลิตในฤดูการผลิตที่ผ่านมาเฉลี่ยไร่ละ 200-300 กิโลกรัม และเป็นข้าวที่มีคุณภาพ โดยหลังจากนี้ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่บ้านตะโล๊ะ จะขยายพื้นที่การปลูกให้เพิ่มขึ้น และหาช่องทางด้านการตลาดเพื่อรับมือราคาข้าวตกต่ำ