ตรัง - สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำของภาคใต้ ทำให้ยอดสั่งทำชุดม้าทรงลดลง ส่วนใหญ่จะนำชุดเก่ามาซ่อม หรือตกแต่งใหม่ให้สวยงาม มีสีสันสดใส และมีลวดลายที่น่าสนใจมากขึ้น เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณ
วันนี้ (5 ต.ค.) “เมืองตรัง” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีประชาชนเข้าร่วมงานถือศีลกินเจ หรือถือศีลกินผักในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปีแล้ว โดยหนึ่งในพิธีกรรมที่น่าสนใจก็คือ การออกโปรดสาธุชนขององค์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะมีม้าทรง หรือร่างทรงของเทพเจ้าจีน ติดตามไปเป็นขบวนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของม้าทรง ทั้งพระอาม่า พระอาก๋ง และพระเด็ก ได้ถูกพัฒนาให้มีความสวยงาม มีสีสันสดใส และมีลวดลายที่น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะม้าทรงหญิง
นางบุณยานุช นุชนนทรี อายุ 50 ปี เจ้าของร้านบุศบกอุนากัณณ์ หรืออาจารย์กุ่ย กล่าวว่า ตนเองถือเป็นนักออกแบบยุคใหม่ หรือยุคร่วมสมัย สำหรับชุดม้าทรงเหมือนกับที่ จ.ภูเก็ต และ จ.นครสวรรค์ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องประเพณีถือศีลกินเจในระดับประเทศ โดยได้ทำเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้มีรูปแบบที่แตกต่างไปมากขึ้น แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวไทย จีน และอินเดีย รวมทั้งยังคงใช้สีหลักๆ ในการตัดเย็บเหมือนเดิมคือ ขาว แดง เขียว น้ำเงิน ชมพูและเหลือง ซึ่งม้าทรงจะเป็นผู้เลือกเองตามความชอบ
ทั้งนี้ ชุดม้าทรงจะมีการวัดตัวจากสะดือถึงพื้น เพื่อกำหนดความยาวของทับหน้า และวัดตัวจากคอหลังถึงพื้นเพื่อกำหนดความยาวของเสื้อผ้า ซึ่งแตกต่างไปจากการวัดตัวทั่วไป จากนั้นจะเริ่มออกแบบในกระดาษ พร้อมลงสีเพื่อให้ม้าทรงเห็นภาพ ก่อนไปสู่การตัดเย็บ และการปัก โดยกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นไปตามมโนจิต คล้ายๆ กับการสร้างสรรค์งานศิลปะ ดังนั้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแต่ละตัวจึงต้องใช้เวลาทำถึง 3 วัน อีกทั้งยังมีรูปแบบที่โดดเด่นเฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร จนทำให้ม้าทรงนำไปสวมใส่แล้วมีความสุข
สำหรับพระอาม่า จะมีราคาชุดละ 7,900-12,000 บาท พระอาก๋ง มีราคาชุดละ 1,500-3,500 บาท และพระเด็ก มีราคาชุดละ 5,300-7,500 บาท ซึ่งสามารถใช้ได้นานหลายปีจนกว่าจะเก่าหรือขาด เพราะผ่านการทำพิธีกรรมเปิดชุดแล้ว ส่วนเนื้อผ้าที่นิยมนำมาตัดเย็บจะเป็นผ้าเดรฟ เนื่องจากเบา ซักง่าย แห้งไว ราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม ผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำของภาคใต้ ทำให้ยอดการสั่งทำชุดม้าทรงลดลง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำชุดเก่ามาซ่อม หรือตกแต่งใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากช่วยประหยัดงบประมาณ