สตูล - กสม.ร่อนหนังสือให้ อบต.น้ำผุด ชี้แจงเรื่องนำชาวเซมัง หรือซาไก เข้าห้างนั่งพื้นในงานแถลงข่าวท่องเที่ยว อ้างอาจเข้าข่ายการกระทำที่ไม่เคารพศักดิ์ศรี ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวยันแค่ต้องการนำเสนอวิถีชีวิต พร้อมท้าชน กสม.ลงพื้นที่ชมวิถีชีวิตความเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (4 ต.ค.) จากกรณีที่ทาง นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังทาง อบต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล เพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับในเรื่องการนำชาวซาไก หรือเซมัง มาร่วมงานแถลงข่าวในกิจกรรมประชาสัมพันธ์ 1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว
กิจกรรมเยือนถิ่นเซมัง ณ วังสายทอง ล่องแก่งชมไพร@สตูล เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2559 ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.สงขลา โดยกิจกรรมดังกล่าวได้ปรากฏ และมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่า มีการนำกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าเซมัง มาร่วมในการจัดงานในลักษณะของการแสดงวิถีชีวิตให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชม ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่าไม่เหมาะสม อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรี และไม่คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกันของบุคคลทุกคน
ดังนั้น ทางคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมือง จึงต้องการให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ อบต.น้ำผุด ในการจัดงานนี้ทำเรื่องชี้แจงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 มาตรา 25 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2554 ภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ นายคะนึง จันทร์แดง อายุ 65 ปี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ และเป็นคนที่ชาวเซมังให้การไว้เนื้อเชื่อใจ กล่าวว่า กรณีทางสิทธิมนุษยชนทำหนังสือให้ชี้แจงเรื่องการนำชาวซาไก ไปร่วมแถลงข่าวในห้างนั้นไม่มีประสงค์ที่จะทำร้าย หรือดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มเซมัง หรือซาไก เพียงแค่ต้องการนำไปในการสะท้อนวิธีชีวิตว่า พื้นที่ใน จ.สตูล ยังมีพื้นที่การอนุรักษ์ชนกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าเซมัง หรือซาไก ชาวบ้านที่นี่มีแต่จะช่วยเหลือยามเดือดร้อน ไม่สบาย และแบ่งปันข้าวปลาอาหารให้โดยตลอด คิดว่าเขาคือส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน
นายคะนึง กล่าวอีกว่า แต่ที่เราอยากบอกไปว่า ซึ่งปัจจุบันเราพบว่าเซมังนั้นมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างมาก หากมาดูที่ จ.สตูล จากดั้งเดิมสูญหายไป เขาเริ่มที่จะขอบ้าน ขอที่อยู่ แม้กระทั่งขอสิทธิความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกับคนทั่วไป ส่วนเซมัง หรือซาไกใน จ.สตูล สำรวจแล้วมีประมาณ 130 คน
ด้าน นายไข่ ศรีมะนัง เซมัง หรือซาไก (หัวหน้าเผ่า) กล่าวว่า ตนเองได้ไปร่วมงาน และอยากที่จะเปิดหูเปิดตา และวันนั้นไปร่วมงานที่เขาจัด ซึ่งเขาก็จัดสถานที่ให้นั่งคือ ทำแคร่ไม้ไผ่จำลองสถานที่ เราก็ไปนั่ง แต่เขาทำมาไม่พอเลยต้องนั่งพื้น แต่ถ้าเขามีเก้าอี้ให้เรานั่ง เราก็นั่ง ถ้าเขาไม่มีเราก็นั่งพื้นได้ แต่ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องปัญหาที่ใหญ่ขึ้นตามมา
ขณะที่ อบต.น้ำผุด เจ้าของพื้นที่ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำหนังสือชี้แจงปัญหาในเรื่องที่นำเซมัง หรือซาไก เข้าไป และยังยืนยันว่า ทางองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำผุด ไม่คิดจะทำร้าย ลบหลู่สิทธิมนุษยชนของชนเผ่าเหล่านี้