xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเมืองท่าสุไหงอุเป ย้อนดูสถาปัตยกรรมตึกชิโนโปรตุกีส หวังสร้างถนนสายวัฒนธรรมทุ่งหว้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - เปิดเมืองท่าสุไหงอุเป อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ย้อนดูสถาปัตยกรรมตึกชิโนโปตุกีส หวังผลักดันสร้างสรรค์เป็นถนนสายวัฒนธรรมทุ่งหว้า เพื่อผลักดันให้ถนนเส้นนี้มีคุณค่า สร้างสีสัน สร้างบรรยากาศเพิ่มรายได้ขึ้นมาให้สอดรับต่อยุคปัจจุบัน

วันนี้ (27 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย่านตลาดเทศบาลตำบลทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล หรือท่าเทียบเรือสุไหงอุเปในอดีต เป็นย่านการค้าที่ผู้คนพลุกพล่านทั้งคนไทยคน ต่างชาติ เพราะเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่ชัดเจนคือ กลุ่มพ่อค้าสตูล-ปีนัง (มาเลเซีย) สินค้าในอดีตที่โดดเด่นมีทั้งเครื่องเทศ พริกไทย เครื่องครัว ถ้วยชาม ไปจนถึงวัสดุในการก่อสร้างบ้านเรือน การเดินทางไปมาระหว่าง 2 ประเทศ นอกจากการค้าขายต่อกันแล้ว อารยธรรมก็ถูกส่งต่อเข้ามาผสมผสานกัน ชาวปีนังบางส่วนได้มาตั้งรกรากที่อำเภอทุ่งหว้าแห่งนี้ ปลูกบ้านสร้างเรือนเป็นหลักแหล่งจนถึงปัจจุบัน
 

 
ตึกทรงชิโนโปตุกีส ย่านการค้าของอำเภอทุ่งหว้าปลูกเรียงรายตลอดสองข้างถนนยาว 500 เมตร นับ 10 หลัง เป็นสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือให้เห็น แม้บางหลังได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสมัยใหม่ แต่ทรงของตัวบ้านยังสื่อให้ได้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต เหลือเพียงไม่กี่หลังที่ยังคงสมบูรณ์ บ้านทรงชิโนโปตุกีส นอกจากตัวบ้านที่มองได้ชัดแล้ว ภายในจะเป็นบ้าน 2 ชั้น ระหว่างชั้นจะสูงมาก ภายในตัวบ้านจะใช้ไม้อย่างดี ทนทาน แม้เวลาจะผ่านมานานมากแล้วแต่สภาพไม้ยังสมบูรณ์ ชั้นล่างของตัวบ้านจะมีซุ้มประตูคั่นกลางระหว่างหน้าบ้านกับหลังบ้านไว้ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงฐานะเจ้าของบ้านได้ว่าร่ำรวยพอสมควร

ตึกชิโนโปตุกีสแถบนี้เป็นของทายาทซึ่งมีเอกสารสิทธิถูกต้อง เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาดูแต่ทำนุบำรุงเพื่ออนุรักษ์ก็ทำได้ยาก ทำได้เพียงแนะนำเจ้าของบ้านเท่านั้น นายกฤษฎา อึ้งสกุล ทายาทเจ้าของบ้านทรงชิโนโปตุกีสหลังหนึ่งในแถบนี้มีแนวคิดจะปรับปรุงบ้านแต่ให้คงสภาพเหมือนเดิมให้มากที่สุด โอกาสนี้ ทางวัฒนธรรมจังหวัด โดย นายธงไชย สารอักษร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปกร เดินทางมาชมตัวบ้าน พร้อมแนะนำเพื่อรักษาอนุรักษ์สถาปัตยกรรมนี้ไว้ให้ลูกหลาน นักท่องเที่ยวได้ชม และเรียนรู้ในวันข้างหน้า
 

 
นายสุทรรศน์ จุนณศักดิ์ศรี ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทุ่งหว้า กล่าวว่า มีการเล่าต่อกันมาว่าชาวปีนังได้มาสร้างรกรากอยู่ที่นี่ โดยบ้านที่สร้างขึ้นเป็นรูปแบบมาจากประเทศมาเลเซีย เกาะปีนังในอดีต เป็นบ้านทรงชิโนโปตุกีส ได้สร้าง และอยู่อาศัยมารุ่นสู่รุ่น โดยทายาทในรุ่นปัจจุบันไม่สามารถที่จะซ่อมแซม หรือให้คงสภาพเดิมไว้ได้ เนื่องจากต้องใช้เงินในการซ่อมแซมสูง ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโครงสร้าง ทำให้การก่อสร้างเป็นไปแบบไทยปัจจุบัน โอกาสนี้ ก็ขอความร่วมมือทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยากให้ช่วยกันผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ วิธีการซ่อม โครงสร้าง แบบแปลนทรงชิโนโปตุกีสเก่า แนะนำเจ้าของบ้านเพื่อการซ่อมแซมรักษาไว้เป็นโบราญสถานในโอกาสต่อไป

นายกฤษฎา อึ้งสกุล อายุ 38 ปี บ้านเลขที่ 195 หมู่ 6 ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวว่า ก่อนจะปรับปรุงบ้านหลังนี้ก็ได้สำรวจตัวบ้านเพราะเป็นบ้านเก่าทรงชิโนโปตุกีส พบบริเวณฝาผนังบ้านมีลวดลายเหมือนก้นหอยอยู่เต็มไปหมด แต่ละลายมีลักษณะคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน จึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นการวาดลายเส้นของช่างในสมัยนั้น บางส่วนที่นำมาปรับปรุงใหม่ก็ให้ช่างวาดขึ้นมาเพื่อจะได้เป็นลายเหมือนกันทั้งฝาผนัง แต่ก็ดูไม่เหมือนได้อย่างชัดเจน จึงได้ประสานไปยังกรมศิลป์ให้มาดูรูปแบบบ้าน โดยความตั้งใจส่วนตัวอยากบูรณะบ้านหลังนี้ให้ใกล้เคียงสภาพเดิมให้มากที่สุด เพื่อให้คนสตูล นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวได้มาชม และได้เรียนรู้ ทำให้ย่านการค้าคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง ถือเป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่สวยงามเอาไว้ด้วย

ลวดลายที่มีลักษณะเหมือนลายก้นหอยบนนิ้วมือมนุษย์นี้ มีหลายคนสันนิษฐานว่า เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ น้ำฝนกัดเซาะ โดดแดดเผาจนเป็นลวดลายดังกล่าว เหตุผลเพราะบริเวณที่เป็นลวดลายเด่นชัดเป็นจุดที่แสงแดดส่องถึง ก่อให้เกิดจินตนาการต่างๆ ของผู้พบเห็น
 

 
ตึกฝั่งตรงข้ามอีก 2 หลังติดกันนับเป็นบ้านที่สมบูรณ์ที่สุด ณ เวลานี้ เจ้าของบ้านเดิมเป็นนายด่านฯ เป็นคนใหญ่คนโตในแถบนี้ในอดีต ลักษณะบ้านบ่งบอกถึงฐานะได้เป็นอย่างดี ตัวบ้านยังแข็งแรง มีซุ้มกั้นระหว่างหน้าบ้านกับหลังบ้านทั้ง 2 หลัง รูปทรงเหมือนเคาน์เตอร์ ด้านบนของซุ้มเป็นไม้สลักไว้อย่างประณีตสวยงาม ควรค่าแก่การรักษายิ่งนัก ทายาทเจ้าของบ้านนำรูปท่านนายด่านซึ่งเป็นคุณปู่ออกมาให้ชมอย่างปลาบปลื้ม

นายธงไชย สารอักษร วัฒนธรรมจังหวัด กล่าวว่า ถนนเส้นนี้เราสามารถทำเป็นถนนสายวัฒนธรรมได้ ปัจจุบันคำว่า ถนนเส้นวัฒนธรรมมีกันหลายพื้นที่ ทุ่งหว้านั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน พื้นที่แห่งนี้ด้านบนเห็นเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ข้างล่างมีอุโมงค์ที่สามารถใช้การได้ แต่หลายคนยังไม่ทราบ ต้องมีการคิดกันว่าจะสามารถเปิดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนใช้อุโมงค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างไร เพราะฉะนั้นบ้านแต่ละหลังที่อยู่ในพื้นที่อุโมงค์เส้นนี้ก็ขอฝากประชาสัมพันธ์กันว่า ถ้าท่านจะปรับปรุง บูรณะซ่อมแซม หากไม่มั่นใจก็ปรึกษากับทางวัฒนธรรมจังหวัดได้ ถึงแม้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญแต่ก็สามารถประสานงานให้ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำได้ 

“อนาคตก็ฝากความหวังไว้แก่ท้องถิ่น เราต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อผลักดันให้ถนนเส้นนี้มีคุณค่า สร้างสีสัน สร้างบรรยากาศเพิ่มรายได้ขึ้นมาให้สอดรับต่อยุคปัจจุบัน เราต้องช่วยกันหลายฝ่ายในการที่จะปรับปรุง หรือริเริ่มก่อตั้งให้ถนนเส้นนี้เป็นเส้นวัฒนธรรม เป็นเส้นทางผ่านไปผ่านมา แต่คนในพื้นที่ต้องมีความภาคภูมิใจที่ได้สร้างมากับมือ” วัฒนธรรมจังหวัด กล่าว
 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น