ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบใบอนุญาตแสดงเครื่องหมาย มอก.แผ่นยางปูพื้นให้แก่โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด เป็นรายแรกของประเทศ ดันยอดขายแล้วกว่า 7 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรระยะยาว
วันนี้ (22 ก.ย.) ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.2377/2551 แผ่นยางปูพื้น ให้แก่โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด และเป็นสถาบันเกษตรกรยางพาราไทยรายแรก ที่ผ่านการรับรอง และได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อสนองตอบนโยบายรัฐบาลแก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางในระยะยาว
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เป็นผลมาจากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกยางยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 21.4 และรัฐบาลพยามแก้ปัญหาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพารา โดยเน้นการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างกลไกผลักดันราคายางในประเทศไทยให้เพิ่มสูงขึ้น มุ่งเน้นวัตกรรมการนำยางพารา มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรม และจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ทำจากยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีการนำยางพารามาใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะส่งผลให้น้ำยางพาราที่เกษตรกรผลิตขึ้นมีการซื้อขาย ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่ายางพาราในประเทศ และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราให้มากขึ้น
ด้าน นายชำนาญ เมฆตรง ประธานสหกรณ์ชุมนุมกองทุนสวนยางสตูล กล่าวว่า หลังได้รับเครื่องหมาย มอก. เมื่อวันที่ 12 กันยายน ทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค สร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ สามารถขยายช่องทางจำหน่ายแก่หน่วยงานภาครัฐ ที่มีระเบียบพัสดุกำหนดให้จัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ มอก. ซึ่งล่าสุด ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยางปูพื้นแล้วถึง 7 ล้านบาท และขณะนี้มีอีกหลายหน่วยงานต้องการใช้ยางปูพื้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เกิดการจ้างงานขึ้นในพื้นที่ด้วย ที่สำคัญนวัตกรรมจากยางพาราใหม่ๆ สามารถนำไปต่อยอด ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ทุกชุมชนพึ่งพาตัวเอง และพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน