ตรัง - สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ตรัง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปิดกั้นบริเวณสุสานลิง-ค่าง บนยอดเขาล้อน ในพื้นที่ ต.ลิพัง ให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ หลังเพิ่งมีการค้นพบซากชิ้นส่วนต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก
จากกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ได้พบชิ้นส่วนของหัวกะโหลก ฟันกราม คาง กระดูกสะโพก ซี่โครง และอื่นๆ ของสัตว์ป่าจำพวกลิง และค่าง บนยอดเขาล้อน หมู่ที่ 5 ต.ลิพัง เป็นจำนวนมาก โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นโครงกระดูกของลิง และค่างที่ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นสุสาน ซึ่งเมื่อบาดเจ็บ และรู้ว่าตัวเองกำลังจะตายก็จะมานอนพักที่นี่ ก่อนซากจะทับถมกันมายาวนานหลายสิบปีแล้วนั้น
วันนี้ (7 ก.ย.) นายประทีป โจ้งทอง ประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ตรัง กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อครั้งในอดีตบริเวณเขาล้อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาบรรทัด มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก รวมทั้งยังมีพื้นที่เชื่อมต่อไปยังป่าโกงกาง และทะเลอันดามันฝั่งทิศใต้ จึงมีฝูงลิง และค่างอาศัยอยู่มากมาย ดังนั้น เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นจึงทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้ค่อยๆ ล้มตายลง จนเหลือแต่หัวกะโหลก และโครงกระดูก กลายเป็นสุสานที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว ต่างไปจากยุคปัจจุบันที่มีลิง และค่างจำนวนลดน้อยลงมากแล้ว
ทั้งนี้ ลิง และค่างเหล่านี้มักจะลงมาจากเขาล้อน ซึ่งมีสภาพเป็นหน้าผาสูงชัน ก่อนไต่ไปตามป่าโกงกางลงสู่ท้องทะเล เพื่อจับกุ้งหอยปูปลากิน พร้อมทั้งนำอาหารบางส่วน โดยเฉพาะหอยใส่กระพุ้งแก้ม หรือที่เรียกว่าแก้มลิง แล้วนำกลับขึ้นมากะเทาะกินบนยอดเขา จนทำให้ต่อมามีผู้พบเปลือกหอยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนแรกชาวบ้านเข้าใจผิดว่า เป็นฝีมือของภูตผีปีศาจที่ชื่อว่า “ผีหลังกลวง” กระทั่งภายหลังเมื่อนักโบราณคดีได้เข้ามาตรวจสอบจึงได้รู้ว่าเป็นฝีมือของลิงและค่าง ที่นำหอยขึ้นมากินบนยอดเขานั่นเอง
นอกจากนั้น บริเวณเขาล้อน ก็ยังเคยพบซากช้างโบราณมาแล้วด้วย จึงถือเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.ตรัง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรีบเร่งเข้ามาดูแล และกั้นพื้นที่โดยรอบเพื่อทำการอนุรักษ์ หรือสร้างเป็นอนุสรณ์เอาไว้ มิเช่นนั้นแล้วก็จะมีผู้คนเข้ามาเก็บหัวกะโหลก และโครงกระดูกของลิง และค่างเหล่านี้เอาไปเป็นของที่ระลึก หรือของสะสมส่วนตัว จนไม่เหลือสภาพความเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีค่าอีก