xs
xsm
sm
md
lg

สุดลุ้น! ชมลีลาการรับลูกทุเรียนของชาวสวนยะลาที่มีความเสี่ยงสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

   


 
ยะลา - มาดูลีลาการรับลูกทุเรียนของชาวสวนใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ต้องตัดทุเรียนไปขาย ซึ่งกว่าจะได้ทุเรียนจากต้นไปขาย ขั้นตอนการรับลูกทุเรียนต้องอาศัยความชำนาญเพราะมีความเสี่ยงมาก

วันนี้ (30 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวสวนทุเรียนใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้โพสต์คลิปวิดีโอถึงขั้นตอนการรับลูกทุเรียนที่ตัดจากต้น เพื่อจะนำไปขายส่งต่อในท้องตลาด ซึ่งกว่าที่ผู้บริโภคหลายๆ คนจะได้กินทุเรียนที่มีความอร่อยจากสวนนั้น ขั้นตอนการตัดทุเรียนจากสวนก็มีความเสี่ยงอยู่มากเลยทีเดียว

โดยภายในคลิปวิดีโอที่นำมาโพสต์จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นคนรับลูกทุเรียนจากคนที่ตัดทุเรียนอยู่บนต้นนั้นต้องใช้กระสอบป่าน หรือกระสอบใส่ข้าวสารมายืนรอรับลูกทุเรียนที่ถูกโยนลงมาจากบนต้น ซึ่งผู้ที่รับลูกทุเรียนนั้นจะต้องมีความชำนาญ และความสามารถ บวกกับความเข้มแข็งของร่างกายที่จะรับลูกทุเรียนขนาด 2-3 กิโลกรัม ซึ่งถูกโยนลงมาหลังจากที่คนที่บนต้นทุเรียนได้ตัดขั้วแล้ว โดยหากไม่มีความชำนาญก็อาจจะทำให้พลาดจนได้รับบาดเจ็บได้ หรือหากรับไม่ดีลูกทุเรียนตกกระแทกพื้นก็จะทำให้ลูกทุเรียนเกิดความช้ำ และเน่าเสียระหว่างการนำส่งไปสู่ท้องตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนวิธีดำเนินการตัดทุเรียนจากในสวนแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นส่วนใหญ่แล้วจะมีนายหน้าผู้ค้าทุเรียนไปเหมาราคาทุเรียนในสวนของเกษตรกร แบบกดราคาเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนในราคาที่ต่ำมาก โดยจะอ้างถึงความไม่ปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ ความห่างไกล และสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น อีกทั้งการอ้างอิงถึงภาระค่าขนส่ง และการครองชีพกว่าจะนำทุเรียนไปส่งพ่อค้าคนกลางในตลาดอีกทอดหนึ่ง ทำให้ขณะนี้ราคาทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา มีการรับซื้อสูงสุดไม่เกินกิโลกรัมละ 45 บาท หรืออาจจะต่ำกว่านั้น แต่เมื่อนำไปสู่ท้องตลาดแล้วราคาทุเรียนในตลาดก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเกือบถึง 70-100 บาทต่อกิโลกรัม

โดยทุเรียนพื้นที่จังหวัดยะลานั้นจะให้ผลผลิตตามฤดูกาลช้ากว่าทุเรียนในภาคอื่นๆ ของประเทศ แต่รสชาติ และความอร่อยของทุเรียนในจังหวัดยะลานั้น ผู้บริโภคหลายคนยอมรับว่ามีรสชาติที่อร่อยกว่าทุเรียนจากพื้นที่อื่นเป็นอย่างมาก แต่ทางเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนบางรายก็จำเป็นจะต้องให้ราคาตามพ่อค้าที่รับซื้อทุเรียนกำหนดมา เพื่อเป็นการส่งผลผลิตออกสู่ตลาดให้ทันตามฤดูกาล ดีกว่าปล่อยให้ทุเรียนเน่าเสียคาต้น
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น