โดย..ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
แหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของปกาสัยก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเมืองกระบี่ในปัจจุบัน แต่ไม่เคยมีการกล่าวถึงเลย ก็คือ ท่าเรือ และตลาดบริเวณวังอม ในคลองชะอม หรือบางคนเรียกว่า คลองท่าเรือ ตั้งอยู่ในเขตบ้านทุ่งสาคร ตำบลปะกาสัย อำเภอเหนือคลอง บริเวณที่เป็นรอยต่อกับอำเภอคลองท่อม และได้มีการขุดหาสมบัติเมื่อปี 2553 ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าว่ามีลายแทงมาจากเมืองจีนที่กล่าวว่า มีเรือสำเภามาจม และหัวเรือมีทองคำ 2 หีบ และเงิน
บริเวณดังกล่าวปรากฏร่องรอยของท่าเรือ และตลาดการค้าบนเนินริมท่าเรือ และจากการขุดหาสมบัติของชาวบ้านได้พบซากเรือขนาดใหญ่ เศษถ้วยชามจากต่างประเทศ กระดูก และเขี้ยวของสัตว์ไม่ทราบชนิด นอกจากนั้น ยังพบขวดแก้วสมัยเก่า เศษถ้วยชาม และช้อนเคลือบที่มาจากต่างประเทศ ชาวบ้านยังระบุว่า มีเศษถ้วยชามบางชิ้นมีอักษรว่า Portugues หรือโปรตุเกส
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การพบเหรียญทั้งของสยาม และต่างประเทศจำนวนมาก จากการศึกษาเหรียญที่พบบริเวณนี้ เหรียญที่มีอายุน้อยที่สุดคือ เหรียญที่ด้านหน้ามีตัวอักษร ONE DOLLAR มีรูปเทพี มือขวาถืออุปกรณ์ที่คาดว่าเป็นอาวุธ มือซ้ายถือโล่ที่มีลายธงชาติของสหราชอาณาจักร ด้านล่างซ้ายมีรูปเรือสำเภา ด้านหลังมีอักษรจีน และภาษามลายูอักษรยาวี อักษรจีน อ่านว่า 壹圓 (อี-หยวน) แปลว่า 1 หยวน ภาษามลายูอักษรยาวี อ่านว่า Satu Ringkit แปลว่า 1 ริงกิต เหรียญดังกล่าวมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร หนา 0.3 เซนติเมตร
เหรียญส่วนใหญ่ที่พบด้านหน้ามีรูปพระนางวิคตอเรีย และมีอักษรภาษาอังกฤษ ด้านซ้ายของรูปเขียนว่า VICTORIA และด้านขวาเขียนว่า QUEEN ระบุ ค.ศ.ที่แตกต่างกัน เช่น 1873 1887 1888 ส่วนด้านหลังของเหรียญมีข้อความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เหรียญขึ้นสนิม คาดว่าทำจากทองแดง และจมในน้ำมานาน บางเหรียญสามารถอ่านได้ เช่น เหรียญที่ด้านหน้ามีภาพพระนางวิคตอเรีย ด้านหลังของเหรียญทางด้านบนมีอักษรภาษาอังกฤษว่า HONG KONG ด้านล่างมีอักษร ONE CENT และตัวเลข 1866 ด้านหลังมีอักษรจีนเขียนว่า香港 (เซียง-กั่ง) แปลว่าฮ่องกง และ一仙 (อี-เซียน) แปลว่า 1 เซ็นต์
เหรียญที่มีตัวเลขเก่าแก่ที่สุดคือ เหรียญที่ด้านหน้ามีตัวอักษร NEDERLANDSCH INDIE. ตรงกลางเหรียญมีรูปสิงโต และสวมมงกุฎ และมีตัวเลข 1857 ด้านล่างของเหรียญมีตัวเลข และอักษร 2 ½ CENT. ขณะที่ด้านหลังเป็นภาษามลายูอักษรยาวี อ่านว่า seper empat puluh rupiah แปลว่า 1/4 ของ 10 รูเปียห์ หรือ 2.5 รูเปียห์ ล้อมรอบด้วยอักษรชวา อ่านว่า saprapat puluh rupiyah เหรียญดังกล่าวคือ เหรียญของเนเธอร์แลนด์ อีสต์ อินดี้ (Netherlands East Indies) ซึ่งขณะนั้นเข้ามายึดชวาเป็นอาณานิคม
สำหรับเหรียญของสยามคือ เหรียญจุฬาลงกร ป.ร. พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม มีเลขไทย 118 ซึ่งหมายถึง ร.ศ.118 (พ.ศ.2443) และยังพบเหรียญ 1 อัฐด้วย
ขณะที่ อรวรรณ เจริญฤทธิ์ ได้เขียนในรายงานพัฒนาตำบลปกาสัย เมื่อปี 2554 ระบุว่า ปากน้ำที่สำคัญๆ จะมีการตั้งด่านเก็บภาษีสินค้า และทำหน้าที่กองแวดระวังจากภายนอก และปากน้ำปกาสัย คือ หนึ่งในปากน้ำที่มีการตั้งด่าน โดยได้อ้างหลักฐานจากจดหมายเหตุ ร.2 จ.ศ.1173 มีการระบุชื่อตำแหน่งขุนนางภายใต้กำกับของเมืองนครศรีธรรมราชทำหน้าที่รักษาด่านปากน้ำปกาสัยความว่า ขุนวินิจ เป็นนายด่านถือนา 400 ขุนทิพย์ปลัดด่าน ถือนา 300 หมื่นวิชิต หมื่นเพชร หมื่นมานะ หมื่นอาจ เป็นกองลาดถือนา 200 จดหมายเหตุดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นว่า บริเวณปกาสัยเป็นแหล่งทำการค้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2354 หรือมากกว่า 200 ปีมาแล้ว ก่อนหน้าการค้ากับต่างประเทศในยุคที่สหราชอณาจักร และฮอลันดาเข้ามามีอิทธิพล
สำหรับบรรยากาศของการค้าขายที่ตลาด และท่าเรือแห่งนี้ ลุงชัย ชาวบ้านทุ่งสาคร เปิดเผยว่า ได้รับการบอกเล่าจากปู่ว่า สมัยก่อนบริเวณท่าเรือวังอม มีผู้ค้าทั้งคนจีน และมุสลิม เป็นตลาดที่มีการค้าระหว่างทางบกกับทางทะเล เรือสินค้านำของประดับ และของใช้มาขาย ขณะที่พ่อค้าทางบกต้อนสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย หมู มาทางลำทับมาขึ้นเรือที่นี่ โดยมีเรือยนต์มารับสินค้าส่งไปขายต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีสินค้าอย่างอื่นเช่น ไก่ ข้าว
แม้ว่าหลังย้ายเมืองปกาสัยไปตั้งเป็นจังหวัดกระบี่ ที่ปากแม่น้ำกระบี่แล้ว แต่จากการพบเหรียญจุฬาลงกรเจ้ากรุงสยาม ที่ระบุ ร.ศ.118 (พ.ศ.2443) แสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้ก็ยังเป็นศูนย์กลางการค้าต่อเนื่องมาตลอดก่อนที่จะล่มสลายเพราะโรคระบาด โดยลุงชัย ชาวบ้านทุ่งสาคร ระบุว่า พ่อของลุงชัย ได้เล่าให้ฟังว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองประมาณ 10 ปี มีไข้น้ำ หรือโรคห่าระบาด คนหนีไปอยู่ที่อื่นหมด และตลาดแห่งนี้ก็กลายเป็นตลาดร้าง
นอกจากการพบหลักฐานการค้าทางทะเลที่บ้านทุ่งสาครแล้ว ชาวบ้านเกาะปู ยังได้ระบุว่า บริเวณริมทะเลเขตบ้านทุ่งไม้ไผ่ ของเกาะศรีบอยา ก็มีการพบเศษกระเบื้องถ้วยชามคล้ายคลึงกับที่บ้านทุ่งสาครเช่นกัน หลักฐานนี้เป็นไปได้ว่า บริเวณท้ายเกาะศรีบอยา ก็เคยเป็นท่าเรือที่มีการค้ากับต่างประเทศด้วย
หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ท่าเรือแห่งนี้คงมีการทำการค้ามานานกว่า 200 ปี โดยการค้าชายฝั่งทะเลแห่งนี้เป็นเศรษฐกิจที่สำคัญของบ้านเมืองในยุคนั้น ต่อเนื่องมาจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นเส้นทางเจ้าพระยานครค้าช้าง และมีการค้าอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากการตั้งด่านเก็บภาษีที่ปากคลองปกาสัย
ต่อมา ในยุคล่าอาณานิคม เมื่อมีเรือกลไฟที่สามารถกินน้ำตื้น บริเวณนี้ก็เป็นท่าเรือที่มีการค้าทางบกกับทางทะเล โดยค้าขายกับเจ้าอาณานิคมทั้งสหราชอาณาจักร และฮอลันดาที่เข้ามายึดครองหมู่เกาะต่างๆ ในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิคเป็นอาณานิคม เช่น ฮ่องกง ชวา และแหลมมลายู