ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ลุงมอน” เกษตรกรชาวนาทวี จ.สงขลา ผันตัวจากการปลูกยางพาราหันปลูกผลไม้เศรษฐกิจอย่าง “สละอินโด” อาชีพที่สร้างรายได้เพื่อเกษตรกรชายแดนใต้ เผยเคล็ดถ้าอยากได้ผลผลิตที่ดีต้องมีเวลา และใส่ใจอยู่กับสวนทุกวัน
วันนี้ (12 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พาไปชม สละอินโด ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่กำลังน่าจับตามอง และเกษตรกรสนใจหันมาปลูกกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปลูกง่าย ขายคล่อง ซึ่งลุงมอน แสงนพรัตน์ เกษตรกรในพื้นที่ ต.ทับช้าง อ.นาทวี จ.สงขลา ก็ได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ จนสวนสละอินโดติดตลาด ไม่พอต่อความต้องการ ลุงมอน แสงนพรัตน์ ได้ผันตัวจากชาวสวนยางมาเป็นเกษตรกรปลูกสละอินโดปลอดสารพิษอย่างแท้จริง ในพื้นที่ ต.ทับช้าง อ.นาทวี จ.สงขลา จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ลุงมอน เล่าว่า ปี 2546 เป็นจุดเริ่มต้นการปลูกสละอินโด จากการเริ่มชิม ทำให้เกิดความชื่นชอบในความแปลก เพราะมีรสชาติที่อร่อย และแตกต่างไปจากสละทั่วไป จึงได้ซื้อพันธุ์มาปลูก และในทุกๆ วัน ลุงมอน จะดูแลสวนสละอินโดด้วยตัวเอง หมั่นตัดแต่งกิ่งก้าน ถางหญ้าตามแนวปลูกไม่ให้รก เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และทดลองชิมทุกต้นก่อนตัดขายเพื่อไม่ให้ลูกค้าเสียความรู้สึก
สละอินโด เป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวาน กรอบ ปลูกง่าย ขายคล่อง ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด บ่อยครั้งที่ ลุงมอน จะนำผลผลิตไปขายเองที่ตลาดนัด และมีพ่อค้ามารับถึงสวน ซึ่งรายได้จากการขายสละอินโด ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน
จากการเริ่มลองผิดลองถูก และคลุกคลีอยู่ในสวนสละทุกวัน จึงทำให้ ลุงมอน ได้เห็นวิธีการผสมเกสรเพื่อให้สละติดลูกได้ง่าย เพราะถ้ารอให้สละอินโดผสมเกสรตามธรรมชาติ ต้องใช้ระยะเวลานาน และมีโอกาสติดลูกได้น้อย ลุงมอน บอกว่า เราต้องช่วยผสมเกสร โดยการนำเกสรตัวผู้ไปเคาะบนเกสรตัวเมียที่กำลังเบ่งบาน และในบางครั้งเกสรตัวผู้ และตัวเมียบานไม่พร้อมกัน จึงต้องมีการเก็บรักษาเกสรตัวผู้ไว้เพื่อใช้ในช่วงที่ขาดแคลน โดยการเก็บเกสรสละอินโด ให้ตัดก้านเกสรตัวผู้ แล้วเคาะละอองเกสรสีเหลืองออกมา ผสมคลุกเคล้ากับแป้งเล็กน้อย ใส่ไว้ในขวดโหล ปิดฝาให้สนิทเพื่อป้องกันความชื้น
นอกจากนี้ ลุงมอน ยังได้แปรรูปเป็นสละอินโดทรงเครื่อง ส่งขายให้แก่แม่ค้าในพื้นที่ และยังคงเดินหน้าคิดค้นหาวิธีแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายพื้นที่การปลูกออกไปอีก พร้อมเคล็ดไม่ลับว่า ถ้าเกษตรกรอยากได้ผลผลิตที่ดีต้องมีเวลา และใส่ใจอยู่กับสวนทุกวัน