ยะลา - ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้สรุปสถิติเหตุไม่สงบช่วงเดือนรอมฎอน เกิดเหตุ 49 เหตุการณ์ ตาย 22 เจ็บ 47 พบอำเภอเมืองยะลา มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด
วันนี้ (7 ก.ค.) คณะทำงานฐานข้อมูลจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Deep South Incident Database :DSID) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deepsouthwatch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างเดือนรอมฎอน ฮ.ศ.1437 ระหว่างวันที่ 7 มิ.ย. 2559 ถึง 2 ก.ค. 2559 ว่าในห้วงเวลาดังกล่าวข้อมูลเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2559 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงรวม 49 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ได้รับบาดเจ็บ 47 ราย โดยแบ่งออกเป็นเหตุการณ์ความมั่นคง จำนวน 24 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 37 ราย เหตุอาชญากรรมทั่วไป 8 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 5 ราย และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ 17 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บ 5 ราย
ส่วนการจำแนกเหตุการณ์ช่วง 10 วัน พบว่า ใน 10 วันแรกเกิดเหตุการณ์ 15 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 24 ราย ในช่วง 10 วันที่สอง เกิดเหตุการณ์ 19 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 11 ราย และในช่วง 10 วันสุดท้าย เกิดเหตุการณ์ 15 เหตุการณ์ เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 12 ราย โดยอำเภอเมืองปัตตานี เป็นอำเภอที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ 5 เหตุการณ์ ส่วนอำเภอที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ อำเภอเมืองยะลา มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ส่วนอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี มีผู้บาดเจ็บมากที่สุด คือ 22 ราย
สำหรับการจำแนกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่า เกิดเหตุยิง 28 เหตุการณ์ เหตุระเบิด 16 เหตุการณ์ เหตุลอบวางเพลิง 3 เหตุการณ์ และเหตุอื่นๆ 2 เหตุการณ์ มีผู้หญิง และเด็กได้รับผลกระทบเป็นหญิงชาวไทยพุทธเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 4 ราย หญิงชาวไทยมุสลิม บาดเจ็บ 3 ราย ส่วนเด็กชายเสียชีวิต 1 ราย และเด็กหญิงได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ และอาสาสมัครของรัฐทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครองซึ่งถือเป็นเป้าหมายแข็ง หรือฮาร์ดทาร์เกต พบว่า มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 24 ราย โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่บาดเจ็บ และเสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ ทหาร มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 19 ราย ขณะที่คนร้ายผู้ก่อเหตุ เสียชีวิต 2 ราย