พัทลุง - พัทลุง ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดอกไม้ 65 ล้าน บานสะพรั่ง ประจำจังหวัด เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.2559
วันนี้ (5 ก.ค.) ที่ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพัทลุง นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดอกไม้ 65 ล้าน บานสะพรั่ง ประจำจังหวัดพัทลุง
ทั้งนี้ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) มาตรา 39/1 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการให้มีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ และประกาศผลการออกเสียงประชามติ และจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนในรับทราบ
ประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 13 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ดำเนินการจัด และควบคุมการออกเสียงให้เป็นไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดอกไม้ 65 ล้าน บานสะพรั่ง ประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการลงมติของประชาชน ในวันที่ 7 ส.ค.2559 ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเกิดความสุจริตเที่ยงธรรม
ทั้งนี้ จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย 11 อำเภอ 65 ตำบล 670 หมู่บ้าน มีหน่วยลงประชามติ 770 หน่วย มีประชากร 552,421 คน เป็นประชากรหญิง 267,231 คน ประชากรชาย 255,190 คน มีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 406,434 คน เป็นหญิง 211,098 คน ชาย 195,336 คน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวพัทลุง เป็นผู้ให้ความสนใจ และมีความตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูง ซึ่งครั้งนี้ทางจังหวัดได้ตั้งเป้าหมายให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่าร้อย 80 ส่วนการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้เสียงลงประชามติ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพัทลุง ได้ใช้ประชาสัมพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งสื่อมวลชน สื่อบุคคล และกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน รวมทั้งความสำคัญของการลงประชามติว่ามีความสำคัญอย่างไร
สำหรับการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.2559 ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. ผู้มีสิทธิในการลงมติได้ต้องมีสัญชาติไทย หรือได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันลงประชามติ