สตูล - สตูลจัดกิจกรรม “หนูน้อยเจ้าเวหาชายแดนใต้” เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมอากาศยาน วิทยาศาสตร์การบิน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และเป็นการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย มีนักเรียนไทย และมาเลย์เข้าร่วมโครงการเพียบ
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดโครงการอบรมค่ายวิทยาศาสตร์อากาศยานเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ “หนูน้อยเจ้าเวหาชายแดนใต้” ประจำปี 2559 โดยมีนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักเรียนมาเลเซีย เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ จำนวน 350 คน ณ หอประชุมโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ จ.สตูล
โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล เป็นเจ้าภาพจัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์อากาศยานเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ “หนูน้อยเจ้าเวหาชายแดนใต้” ประจำปี 2559 เป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2559 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ สำนักงานพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมอากาศยาน วิทยาศาสตร์การบิน และส่งเสริมการประดิษฐ์เครื่องบินจำลองวิทยุบังคับ ทั้งภาคทฤษฎี และหลักการปฏิบัติ ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แก้ไขปัญหาเด็ก และเยาวชนให้ห่างไกลยาเสพติด และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
สำหรับหลักสูตรการอบรมในโครงการฯ มีทั้งหมด 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรพื้นฐาน : การสร้างเครื่องบินและบังคับการบินสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น และหลักสูตรขั้นสูง : การสร้างเครื่องบินเพื่อการใช้งาน สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีนักเรียนไทยเข้าร่วมอบรม จำนวน 92 ทีม และนักเรียนมาเลเซีย จำนวน 8 ทีม
ด้าน นายมูฮัมหมัด อาลีป อัสอาด นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติ เกอรีบัง ลังกาวี และ น.ส.นูรุล อาคีล๊ะ โรสลี โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติ เชค ปุตรา รัฐเปอร์ลิส ผู้ร่วมโครงการ กล่าวว่า ในโอกาสที่มาอบรมในครั้งนี้ได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้รู้ว่าหลักการบินเป็นอย่างไร การทำเครื่องบินเล็กเริ่มอย่างไร จะได้แชร์ประสบการณ์กับเพื่อนต่างโรงเรียนต่างประเทศ รู้สึกมีความสุขมากเพราะไม่เคยมาโรงเรียนนี้ จะได้หามิตรใหม่ๆ ที่นี่ และได้รู้จักเพื่อนอีกเยอะจากโครงการนี้ ตั้งใจ และมีความคาดหวังโดยเฉพาะเรื่องอากาศยานการบิน และทุกอย่างที่มีอยู่ในโรงเรียนนี้
นายฉัตรการต์ เทศนอก นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสตูลวิทยา กล่าวว่า ปกติจะประดิษฐ์หุ่นยนต์อยู่ และสนใจการประกอบเครื่องบินบังคับด้วย บวกกับฝันอยากเป็นนักบินจึงเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ชัดเจนขึ้น ทั้งด้านเทคนิคการประกอบตัวเครื่องบิน การบังคับ ซึ่งจะทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น อีกทั้งสามารถนำไปปรับใช้ต่อการเรียนได้ในบางวิชาที่เกี่ยวเนื่องกัน
ด้าน ด.ช.เจษฎา โพสาราช และ ด.ช.ณัฎฐพงษ์ สุวรรณธาดา นักเรียนชั้น ม.3 หนูน้อยเจ้าเวหาจากโรงเรียนเทพา อ.เทพา จ.สงขลา กล่าวว่า ในโอกาสนี้ได้มาเป็นวิยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้องๆ และเพื่อนต่างโรงเรียนในด้านการประกอบตัวเครื่อง ถือเป็นขั้นตอนที่ยากหากเราทำออกมาไม่สมดุลกันเครื่องก็จะไม่สามารถบินได้ นอกจากนี้ การบังคับก็สำคัญ ผู้บังคับต้องนิ่ง มีสมาธิ สำหรับทีมผมสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันเครื่องบินบังคับประเภทสร้างสรรค์ สวยงาม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเวทีการแข่งขันที่จังหวัดสกลนคร ช่วงต้นปี 2559 นี้ รู้สึกประทับใจมาก โอกาสนี้ ก็อยากจะเชิญชวนให้พี่ๆ น้องๆ และเพื่อนๆ ที่สนใจการบังคับเครื่องบินก็ให้ศึกษาทั้งด้วยตนเอง หรือจากทางโรงเรียน เท่ากับเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์