xs
xsm
sm
md
lg

“ความห่วย” ของสายการบินโลว์คอสต์คือ “ความซวย” ของผู้โดยสาร หรือ “ความเฮงซวย” ของใคร!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
 
ไชยยงค์  มณีรุ่งสกุล
นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย
--------------------------------------------------------------------------------
 
หลายปีมานี้ผู้เขียนกลายเป็นคนที่เรียกว่า “ชีพจรลงเท้า คือ เดินทางบ่อยมาก เพราะมี “พันธกิจ ในเรื่อง “ส่วนรวม มากกว่าเรื่องของตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคง และในเรื่องของวิชาชีพ
 
แน่นอนว่าในเรื่องเหล่านี้ได้รับ “ค่าตอบแทน” ไม่สูงนัก ตามสภาพของ “ราชการไทย รวมทั้งหลายงาน และบ่อยครั้งเป็นเรื่อง “ขอช่วย ที่ต้องทำ พราะมีความสนิทกันเป็นการส่วนตัว ทั้งกับบุคคล และหน่วยงาน
 
ดังนั้น การเดินทางจึงต้องใช้สายการบินประหยัด หรือ “โลว์คอสต์ ที่มีหลายสายการบินให้เลือกตามใจชอบ และผู้เขียนก็ไม่ได้เป็นขาประจำสายการบินใดสายการบินหนึ่ง เพราะทุกสายการบินที่ใช้บริการมาแล้วยังไม่เคยประทับใจสายการบินไหน
 
เพราะสิ่งที่พบเป็นประจำ คือ ไม่เคยตรงเวลา เรื่องของการ “ดีเลย์คือเรื่อง “ปกติ” ของสายการบินโลว์คอสต์ และเรื่องของการคาที่ “ไร้มาตรฐาน” มีการตั้งราคาตั๋วตามใจชอบ เช่น วันศุกร์แพงกว่าวันอื่นๆ หรือวันที่มีคนเดินทางแยะราคาก็จะแพงประมาณ 3,000 บาทอัป เส้นทางระหว่างหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ส่วนวันที่คนน้อยก็อาจจะซื้อได้ที่ 1,000 บาทขึ้นไป
 
ส่วนใน “เรื่องที่จะซื้อตัวได้ตามที่โฆษณา” เช่น เริ่มต้นที่ 390 บาทนั้น ยังไม่เคยได้ซื้อกับเขาเลย
 
แต่เพราะความเป็นคนที่ “เบี้ยน้อยหอยน้อยเหมือนกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ต้อง “จำใจ ใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ ก็ได้เพียงแต่ยอม “จำนน อาจจะบ่นบ้าง เมื่อไม่สบอารมณ์ต่อการดีเลย์บ่อยต่อบ่อย และ “คับแค้น” ไปบ้างกับค่าตั๋วที่แพงอย่างไร้มาตรฐาน และไร้การควบคุม
 
แต่ที่เสียความรู้สึกอย่างแรง และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่เป็นธรรม” ต่อผู้โดยสาร รวมทั้งผู้เขียนด้วย ซึ่งผู้เขียนเองยังคิดไม่ออกว่าเป็นเรื่อง “ความซวย” ของตนเอง หรือเป็นเรื่อง “เฮงซวย” ของสายการบินกันแน่
 
นั่นคือ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนเดินทางจากสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ไปยังสนามบินดอนเมือง โดยเที่ยวบินที่ SL 715” ออกจากหาดใหญ่ เวลา 17.05 น.
 
หลังจากผ่านพิธีการขึ้นไปนั่งตามหมายเลขที่นั่งเรียบร้อย และเครื่องบินเตรียมที่จะ “แท็กซี่ เพื่อนำเครื่องขึ้น กลับปรากฏว่า เครื่องขึ้นไม่ได้ มีการเรียกช่างของสายการบินมาตรวจสอบ มีการขยับเครื่อง หรือ “ลาก”เครื่องถึง 2 ครั้งเพื่อทำการแก้ไข หรือซ่อมเครื่องบินลำดังกล่าว โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่าที่เครื่องจะขึ้นบินได้
 
โดยที่เครื่องลำดังกล่าวไปถึงที่หมาย คือ สนามบินดอนเมือง เมื่อเวลา 20.30 น. ทั้งที่หมายกำหนดเดิม คือ 18.30 น.
 
ต่อมา เมื่อวันที่ 21  พ.ค.ผู้เขียนเดินทางจากสนามบินดอนเมือง มายังสนามบินหาดใหญ่ โดยสายการบินเดิม เที่ยวบินที่ SL 722” กำหนดออกจากดอนเมือง เวลา 18.50 น. ซึ่งผู้โดยสารทั้งหมดขึ้นนั่งบนเครื่องเรียบร้อยเมื่อเวลา 19.00 น. เศษๆ แต่ปรากฏว่า หลังจากนั้นเครื่องบินไม่ขยับไปไหน
 
ครู่ใหญ่ๆ  กับตันได้ประกาศให้ผู้โดยสารทราบว่า “นักบินที่ 2 ไม่มี” ไม่สามารถนกเครื่องขึ้นได้ ต้องใช้เวลารอนักบินที่ 2 ประมาณ 35 นาที ซึ่งแม้ทุกคนจะ “ประหลาดใจ” แต่ก็ “ทำใจกันไว้แล้วกับการใช้บริการของสายการบินโลว์คอสต์ ด้วยความคิดว่าก็ของมันถูก แล้วจะให้มันเลอเลิศอย่างไร สายการบินที่ขายตั๋วแพงๆ ก็มีทำไมจึงไม่ไปนั่ง
 
35 นาทีผ่านไป เครื่องก็ยังไม่ขยับเขยี้อนไปไหน แต่ผู้โดยสารเริ่มผิดสังเกต เพราะพบว่ามี “ช่างซ่อม” 3-4 คน เริ่มเดินเข้าเดินออกใน “ห้องควบคุมการบิน” และ “รถช่าง” ก็วิ่งไปวิ่งมาระหว่างที่ลานจอดกับอาคารสำนักงาน
 
แต่กัปตันก็ก็ยังเห็นว่าผู้โดยสารเป็น “เด็กดูดหัวหลอน ท่านก็อุตส่าห์ประกาศอีกว่า “นักบินที่ 2 มีอุบัติเหตุ” ไม่สามารถเดินทางมาทำหน้าที่ได้ตามกำหนด ต้องรอเรียกนักบินที่ 2 จากเครื่องลำอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ขอเวลาอีกสักครู่
 
เป็นการประกาศในขณะที่ “ช่างซ่อม” ยังคงขึ้นๆ ลงๆ ระหว่าง “ห้องกัปตัน” กับพื้นดิน
 
สุดท้าย 1 ชั่วโมงผ่านไป ท่านก็ยังประกาศว่านักบินที่ 2 มาถึงอาคารบินแล้ว อีก 15 นาทีจะมาถึงที่เครื่องบินที่จอดรออยู่ แต่จนแล้วจนรอดเครื่องก็ออกจากลานจอดไม่ได้ และกัปตันก็เริ่ม “ขอดับไฟ” เพราะตรวจเช็กระบบคอมพิวเตอร์ในห้องควบคุมการบิน
 
ท่ามกลางความไม่พอใจของผู้โดยสารที่ส่วนใหญ่เริ่มรู้ “ชะตากรรม ของตนเองแล้วว่า การที่เครื่องบินขึ้นไม่ได้ไม่ใช่เรื่องของการขาดนักบินที่ 2 แต่เป็นเพราะเครื่องบินเครื่องเสีย
 
หลังจากผ่าน 2 ชั่วโมง กัปตันจึงประกาศให้ผู้โดยสารทราบว่า เครื่องบินลำนี้บินไม่ได้ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนเครื่องใหม่ โดยมีการใช้รถยนต์ “อพยพผู้โดยสารเกือบ 200 คน” กลับไปยังอาคารผู้โดยสารในเวลาประมาณ  21.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่มีเที่ยวบิน และร้านอาหารในอาคารผู้โดยสารปิดให้บริการแล้ว
 
ผู้โดยสารจึงต้อง “แขวนท้อง” มื้อค่ำไปโดยปริยาย รวมทั้งไม่สามารถที่จะเดินทางไปกับเที่ยวบินอื่นๆ ได้ เพราะไม่มีเที่ยวบินแล้ว
 
ทุกคนจึงต้องตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือ “อดอาหารและ “รอจนกว่าจะมีเครื่องบินลำใหม่มารับในเวลา 4 ทุ่มกว่า ตกลงวันนั้นผู้เขียน รวมทั้งผู้โดยสารทั้งหมดมาถึงสนามบินหาดใหญ่ในเวลาอีก 30 นาทีเที่ยงคืน
 
หลายคนที่ไมได้มี “หมุดหมายที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ต้องเดินทางไปยังอำเภอ หรือจังหวัดอื่นๆ อย่างปัตตานี ยะลา พัทลุง สตูล ต้องมีปัญหาแน่ๆ เพราะ “รถหมด” และหลายคนที่ต้อง “เหมาแท็กซี่” หรือต้องใช้บริการ “ลิมูซีน ไปหาโรงแรมนอนในเมืองหาดใหญ่
 
โดยที่สายการบินไม่ได้รับผิดชอบอะไร นอกจากคำว่า “ขออภัย
 
เอาเถอะครับ!  เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดไม่สำคัญ เพราะเป็นความผิดของผู้เขียน และอาจจะหมายถึงผู้โดยสารอื่นๆ ด้วยที่เลือกใช้บริการสายการบินนี้ และอาจจะผิดอีกข้อที่ “มีเงินน้อย” จึงต้องนั่งสายการบินโลว์คอสต์ แทนที่จะนั่งสายการบินตั๋วแพงอย่างการบินไทย
 
แต่ที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง คือ การที่ “กัปตันไม่บอกความจริง” แก่ผู้โดยสารว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบิน ถ้าเครื่องบินเสียก็ต้องบอกว่าเสีย
 
เพื่ออย่างน้อยคนที่เขาไม่พร้อมที่จะนำชีวิตของเขาไป “เสี่ยงตาย อาจจะตัดสินใจได้ว่า เขาจะบินกับเครื่องนี้ หรือจะไปกับเครื่องลำอื่นๆ เพราะเขาควรจะมีสิทธิในการตัดสินใจที่จะเดินทางอย่าง “เสี่ยงอันตราย หรือเดินทางอย่างปลอดภัย
 
รวมทั้งที่ “ข้องใจคือ การที่เครื่องบินเสียในขณะที่ผู้โดยสารเต็มลำ และกำลังจะทะยานขึ้นฟ้า จนต้องเรียกช่างมารุมกันซ่อมนานถึง 2-3 ชั่วโมง หลังซ่อมเสร็จผู้โดยสารจะมั่นใจได้อย่างไรว่า “จะปลอดภัย”  และบินถึงจุดหมายปลายทาง
 
เพราะเครื่องบินไม่เหมือนรถยนต์ เมื่อเสียเรียกช่างมาซ่อมเสร็จเดินทางต่อสัก 10-20 กิโลเมตรแล้วเสียอีกก็ไม่เป็นไร เพราะรถยนต์วิ่งอยู่บนพื้นที่ แต่เครื่องบินๆ อยู่บนฟ้า ถ้าเกิดเสียขึ้นมาอีกนั่นหมายถึง “การสูญเสีย” ที่เกิดขึ้นต่อผู้โดยสารทั้งหมด
 
จากเหตุการณ์ที่เครื่องบินทั้งไป และกลับเสียทั้ง 2 เที่ยวของสายการบินเดียวกัน จึงอยากจะตั้งคำถามว่า การที่เครื่องบินเสีย และใช้เวลาซ่อมนานหลายชั่วโมง แน่ใจอย่างไรว่าจะมีความปลอดภัยหลังจากนำเครื่องขึ้น นอกจากช่างของสายการบินแล้ว จะยังมีหน่วยงานไหน “การันตี” ถึงความปลอดภัยให้ได้อีก
 
และที่สำคัญมีการ “เสี่ยง ในการตัดสินใจที่จะนำเครื่องขึ้นบินหรือไม่ เพราะนิสัยของคนไทยนั่นชอบที่จะทำอะไรที่ “เสี่ยงๆ” ให้เห็นอยู่เสมอ
 
รวมทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสารบนสารการบินโลว์คอสต์ที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง โดยที่สายการบินรับผิดชอบเพียงคำว่า “ขออภัย” เพียงพอหรือไม่ต่อความเสียหายของผู้โดยสารที่ได้รับ “การคุ้มครองผู้บริโภค” ของผู้โดยสารมีหรือไม่ และกรมการบินพาณิชย์ มีมาตรการอย่างไรต่อการให้บริการแบบ “มัดมือชก” ของสายบินโลว์คอสต์ที่เกิดขึ้น
 
หรือผู้โดยสารที่ถูก “เอารัดเอาเปรียบ” ทำได้แค่การพร่ำบ่นเพื่อระบายอารมณ์ หรือแชร์กันในโซเชียลมีเดีย หรือทำได้แค่น้อยใจในโชคชะตา แล้วสุดท้ายคือปลอบใจว่าเป็น “วันซวย ของตนเอง เพราะไม่มีหนทางให้เรียกร้องอะไรได้มากกว่านี้
 
ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ “น่าเศร้า” สำหับการเกิดมาเป็น “คนไทย” และเป็นเรื่อง “น่าเศร้า” สำหรับ “ประเทศไทย” ที่ผู้บริหารไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นต่อผู้คนในแผ่นดิน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น