ตรัง - หลายหน่วยงานใน จ.ตรัง ร่วมประชุมหารือแก้ปัญหารถไฟเฉี่ยวชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย หลังสถิติพบเกิดอุบัติเหตุทั้งจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถไฟอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (23 พ.ค.) นายสมเกียรติ อินทรคำ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แขวงการทาง ขนส่งจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุรถไฟเฉี่ยวชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย หลังจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ได้เกิดอุบัติเหตุทั้งจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถไฟอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลจากนายตรวจรถไฟประจำเขตทุ่งสง และพนักงานขับรถไฟสายตรัง-กรุงเทพฯ และกันตัง-กรุงเทพฯ ระบุว่า เส้นทางรถไฟจากต้นทางที่กรุงเทพฯ มายังปลายทางที่ อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นช่วงที่พนักงานขับรถไฟต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเฉี่ยวชน โดยเฉพาะเมื่อขบวนรถไฟเข้าสู่เขต จ.ตรัง ซึ่งปกติจะวิ่งด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่กลับต้องลดความเร็วลง และเพิ่มความระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนสูงสุด
สำหรับ จ.ตรัง ปัจจุบันมีถนนตัดรางรถไฟ จำนวน 58 จุด แต่มีเครื่องกั้นถูกต้องแล้วเพียงแค่ จำนวน 15 จุด โดยมีระยะทางเริ่มต้นตั้งแต่ อ.รัษฎา อ.ห้วยยอด อ.เมืองตรัง มาจนถึง อ.กันตัง รวมระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร และมีขบวนรถไฟวิ่งไปมาวันละ 2 ขบวน แต่กลับมีจุดตัดรางรถไฟในพื้นที่การจราจรน้อยหลายแห่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างมาก อันเนื่องมาจากชาวตรังไม่เคารพกฎจราจร หรือหยุดรถใกล้กับรางรถไฟน้อยกว่าระยะที่กำหนด คือ 5 เมตร
ทั้งนี้ ที่ประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุเฉี่ยวชน ได้มีมติให้สำนักงานขนส่งจังหวัดตรัง เพิ่มความเข้มงวดในการให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้น ด้วยการเพิ่มหลักเกณฑ์ประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุจากรถไฟ ขณะที่ท้องถิ่น จ.ตรัง ได้ขอความร่วมมือให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งทำการติดตั้งเหล็กกั้นรถไฟอัตโนมัติ รวมทั้งป้ายเตือนล่วงหน้าก่อนถึงจุดตัดรางรถไฟ โดยเน้นในจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง