xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านตรังร่วมอนุรักษ์ “หลุมพี” พืชผลเชิงนิเวศในป่าพรุภาคใต้ที่เริ่มหายาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาวชุมชนอำเภอหาดสำราญ และอำเภอปะเหลียน ร่วมใจอนุรักษ์ “หลุมพี” พืชผลในระบบนิเวศป่าพรุของภาคใต้ที่กำลังพบเห็นได้ยาก ทั้งที่มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ และท้องถิ่นอย่างมาก

วันนี้ (23 พ.ค.) นายวิรัตน์ สองนา ส.อบต.หาดสำราญ จ.ตรัง กล่าวว่า หลุมพี เป็นพืชผลที่มีความสัมพันธ์ต่อระบบนิเวศในป่าพรุอย่างเหนียวแน่น แต่ปัจจุบัน พบเห็นได้ในภาคใต้น้อยมาก รวมทั้งที่จังหวัดตรัง ซึ่งยังคงหลงเหลือแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่บริเวณป่าพรุโต๊ะตุ๋ย รอยต่อระหว่างอำเภอหาดสำราญ กับอำเภอปะเหลียน ในเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ทั้งที่เป็นพืชผลเชิงเศรษฐกิจ และมีความสำคัญต่อท้องถิ่นอย่างมาก นับตั้งแต่ชุมชนบ้านบกหัก ชุมชนบ้าหวี ชุมชนหาดสำราญ ไปจนถึงชุมชนบ้านนา
 

 
หลุมพี สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน โดยเฉพาะผล ซึ่งมีทั้งสรรพคุณทางยา ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ และนำมาใช้ประกอบอาหารคาวหวานได้หลายประเภทตามความนิยมของผู้บริโภค ถ้าเป็นผลแก่จะใช้ปรุงรสแทนมะนาว เช่น แกงส้ม แกงเหลือง และเหมาะอย่างยิ่งในการนำไปปรุงอาหารขณะอยู่ป่า หรืออาจใช้รับประทานเป็นของว่าง โดยปอกเปลือกแล้วซอยก่อนนำไปแช่น้ำเกลือประมาณ 1-2 วัน ชิมดูให้มีรสเปรี้ยวพอเหมาะ แล้วจึงรับประทานกับน้ำจิ้ม น้ำปลาหวาน หรือจิ้มพริกกับเกลือ

ส่วน นายสุชล สุวรรณลอยล่อง ชาวชุมชนบ้านบกหัก กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีผู้นิยมบริโภคหลุมพีกันมาก โดยเฉพาะการนำมาดอง จนสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี จากผลสดซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท เมื่อมาเป็นผลดอง จะมีราคากิโลกรัมละ 30 บาท และหากนำผลไปเชื่อมก็จะมีราคาสูงขึ้นเป็นเมล็ดละ 5 บาท หรือกิโลกรัมละ 200-300 บาท เพื่อนำมารับประทานเป็นของหวานที่แสนอร่อยคู่กับน้ำแข็ง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก แต่กว่าจะผลิตออกมาได้ก็ค่อนข้างจะมีความยากลำบากไม่น้อย
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น