ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรม “แรงงานภูเก็ต รักษ์สิ่งแวดล้อม” เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2559 พร้อมยื่น 8 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เน้นให้พัฒนาด้านคุณภาพชีวิต ความเท่าเทียมด้านสิทธิประโยชน์โดยชอบตามกฎหมาย ขอรัฐบาลพิจารณาให้ภูเก็ตเป็นเขตการบริหารจัดการพิเศษ สนับสนุนงบประมาณป้องกันรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงรุก ขณะที่เครือข่ายแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ขอให้ช่วยดูแลปัญหาที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ (1 พ.ค.) ที่โรงเตาเผาขยะเทศบาลนครภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต นายประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประธานเปิดกิจกรรม “แรงงานภูเก็ต รักษ์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต สหพันธ์ธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต ชมรมบริหารงานบุคคลจังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันจัดขึ้น เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2559 มี นายเสถียร แก้วพระปราบ ผู้อำนวยการกรองแผนและงบประมาณ อบจ.ภูเก็ต น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กลุ่มแรงงานจากเครือข่ายองค์กรแรงงานในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานจำนวนมาก
สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายแนวร่วมอนุรักษ์และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเครือข่ายองค์กรแรงงาน และประชาชนในจังหวัดภูเก็ต กับหน่วยงานภาครัฐในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การเกิดความรัก และความสามัคคี และเพื่อสร้างจิตสำนึก และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการดูแล และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมยั่งยืน
กิจกรรมภายในงาน มีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกลดขยะ และรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการตอบปัญหาชิงรางวัล และการแสดงบนเวทีจากพนักงานสถานประกอบกิจการต่างๆ กิจกรรมเยี่ยมชมการบริหารจัดการขยะของโรงงานเตาเผาขยะเทศบาลนครภูเก็ต และนอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “ลด ละ เลิกขยะ” ด้วยการมุ่งมั่นให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาขยะ ให้ทุกตารางนิ้วของภูเก็ตปลอดขยะ จะช่วยกันลดขยะทุกพื้นที่ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน จะช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีให้อยู่คู่จังหวัดภูเก็ตต่อไป
ทั้งนี้ ในระหว่างพิธีเปิดกิจกรรม ทางสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต นำโดย นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานกรรมการสหพันธ์แรงงานฯ ยังได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล และนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผ่านทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จำนวน 8 ข้อ ข้อแรก ขอให้ผู้ว่าฯ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานไม่ให้ปรับราคาสูงขึ้นเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง ข้อ 2.ขอให้ผู้ว่าฯ เข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เพื่อให้ลูกจ้างได้ตามสิทธิพึงได้ และให้นายจ้างมีต้นทุนการผลิตที่เท่าเทียม แข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม ข้อ 3.ขอให้ผู้ว่าฯ จัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่เข้ามาอยู่โดยถูกต้อง และผิดกฎหมาย โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ และความมั่นคงของชาติ
ข้อ 4.ให้ผู้ว่าฯ เร่งจัดระเบียบระบบการคมนาคม และความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของจังหวัดภูเก็ต ข้อ 5.ขอให้ผู้ว่าฯ จัดระเบียบสายไฟ สายโทรศัพท์ และสายเคเบิลต่างๆ ที่ระโยงระยางอยู่ตามเสาไฟฟ้าข้างถนนให้ดูสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัย ข้อ 6.ให้ผู้ว่าฯ ส่งเสริม และเข้มงวดกวดขันด้านชีวอนามัย และด้านความปลอดภัยต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว ข้อ 7.ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดให้จังหวัดภูเก็ต เป็นเขตการบริหารจัดการแบบพิเศษ เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาการแก้ไขปัญหา ทันต่อความเจริญ ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน หารายได้เข้าประเทศ และข้อ 8.ให้รัฐบาลสนับสนุนเงินงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อทำเชิงรุกในการปกป้องรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ให้คงอยู่แบบยั่งยืน
ขณะที่เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (ชาวพม่า) ในจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นข้องเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เช่นเดียวกัน โดยได้นำเสนอปัญหาบางประการที่เกิด ดำรงอยู่ และกระทบต่อคุณภาพชีวิตของบรรดาแรงงาน ทั้งในเรื่องอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือในสถานที่ทำงาน โดยมากนายจ้างไม่เข้าไปดูแล หรือรับผิดชอบใดๆ สิทธิในการรักษาพยาบาลของแรงงานไม่ชัดเจนเฉพาะแรงงานยิ่งที่คลอดบุตรไม่อาจใช้สิทธิ 30 บาท ได้เหมือนในจังหวัดอื่นๆ แต่ต้องชำระเงินเต็มจำนวนตามที่เป็นจริง นายจ้างต้องไม่เลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าจ้างระหว่างชาย หญิง ทุกอาชีพ การเปลี่ยนแปลงนายจ้างควรมีการผ่อนผันให้เปลี่ยน หรือเพิ่มนายจ้างได้หากมีเหตุจำเป็น และควรมีการตรวจสอบ และบังคับให้นายจ้างจัดให้มีที่พักอาศัยที่ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัยให้แก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วย