ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรนำฟางข้าวจากแปลงนาหลังเก็บเกี่ยวสร้างมูลค่า อัดเป็นแท่งส่งขายให้แก่ฟาร์มเลี้ยงโคกระบือ เก็บกักตุนไว้ใช้ในช่วงหน้าฝน แถมได้ว่าจ้างนักเรียนช่วงปิดเทอมเก็บก้อนฟางสร้างรายได้เสริมอีกทาง
วันนี้ (23 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ในพื้นที่ อ.กระแสสินธุ์ อ.ระโนด จ.สงขลา จะเป็นช่วงที่เกษตรกรชาวนากำลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง โดยใช้รถเก็บเกี่ยวข้าวแทนแรงคน เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว โดยวันหนึ่งจะเก็บเกี่ยวได้หลายสิบแปลง และหลังจากรถเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรชาวนาก็จะทิ้งฟางข้าวไว้ในนาเพื่อตากแดดให้ฟางข้าวแห้ง ที่ผ่านมา ฟางข้าวในนาจะเก็บมันเป็นเรื่องที่ยาก บางคนก็ใช้ไฟเผาฟางข้าวแห้งในนาข้าวเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกรอบใหม่
นายอภิสิทธิ์ จิตพิทักษ์ อายุ 42 ปี เกษตรกรชาวนา อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 3 ต.โรง อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา มีรถไถนาใช้มานานกว่า 10 ปี ได้มองเห็นมูลค่าเพิ่มของฟางข้าวแห้งในนาข้าวเพื่อนำมาสร้างรายได้ จึงได้ซื้ออุปกรณ์มาเสริมที่ใช้กับรถไถนาเป็นรถทำฟางอัดแท่ง มาใช้กับรถไถนาที่มีใช้เดิมอยู่แล้ว
โดยได้ทำฟางข้าวอัดแท่งมา 2 ปี ผลปรากฏว่า ฟางอัดแท่งติดตลาดสร้างรายได้อย่างงามนอกเหนือจากการทำนา ฟาร์มเลี้ยงโคขนาดใหญ่ต่างสั่งจองฟางข้าวอัดแท่งกักตุนไว้ใช้ในช่วงหน้าฝนเป็นจำนวนมาก เพราะราคาฟางอัดแท่งช่วงหน้าฝนราคาจะแพง ทางเจ้าของฟาร์มก็เลยเก็บตุนไว้ตอนนี้ก่อน เพราะช่วงนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวของ อ.ระโนดและ อ.กระแสสินธุ์ เพราะถ้าหลังจากนี้ก็จะไม่มีฟางข้าวให้เก็บแล้ว
อีกทั้งในช่วงนี้นักเรียนปิดเทอม จึงได้จ้างนักเรียนเก็บก้อนฟางอัดแท่งจากแปลงนา หลังจากที่รถอัดแท่งฟางเสร็จแล้ว นำขึ้นมาจากแปลงนามาใส่รถบรรทุกเพื่อนำไปส่งให้แก่ลูกค้า เป็นการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน โดยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ช่วงปิดเทอมอีกด้วย
นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า ตลาดในช่วงนี้ดี โดยเฉพาะลูกค้าที่เลี้ยงโคเยอะๆ จะโทร.มาสั่ง มีทั้งบริการส่งถึงบ้าน และนำไปส่งให้ แต่ละวันจะส่งประมาณ 500 ก้อน หากส่งให้ก้อนละ 35 บาท ในละแวกใกล้ๆ แต่ถ้าลูกค้ามารับเองก้อนละ 28 บาท ในส่วนเจ้าของแปลงนาจะให้ค่าฟางข้าวก้อนละ 4 บาท วันหนึ่งสามารถผลิตฟางข้าวอัดแท่งได้ประมาณ 500-700 ก้อน
สำหรับตลาดในช่วงหน้าร้อนจะขายดี เพราะฟาร์มโคจะเก็บฟางข้าวอัดแท่งไว้ใช้ในฤดูฝน โดยมีตลาดส่งขายที่บ้านทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ โซน อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ รวมทั้งทาง จ.ปัตตานี และ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งแรงบันดาลใจในการทำฟางอัดแท่งเริ่มต้นจากมีรถไถนาอยู่แล้ว เพียงแต่ซื้ออุปกรณ์มาเสริมอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากเมื่อก่อนฟางจะเก็บได้ยาก แต่พอมีเครื่องมือทุกคนต่างให้ความสนใจที่จะเก็บฟางไว้ช่วงหน้าฝน เพราะราคาช่วงนั้นจะแพง เลยต้องเก็บตุนไว้ตั้งแต่ตอนนี้