เรื่อง/ภาพ : กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล
--------------------------------------------------------------------------------
เข้าสู่ปีที่ 5 ต่อวิกฤตการณ์ขาดน้ำใช้ของชาวเมืองนครศรีธรรมราช และใกล้เคียง ซึ่งเป็นลูกค้าของ “สำนักการประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช” อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช แม้ว่าสัญญาณนี้จะเริ่มต้นระลอกใหม่มาเกือบเดือนแล้ว ด้วยน้ำที่ไหลอย่างกะปริบกะปรอยในหลายท้องที่ แถมคุณภาพน้ำที่ต่ำสุดขีด
จนถึงวันนี้ถือว่ายอดภูเขาแห่งวิกฤตของการขาดน้ำของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชถูกรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากศูนย์ประชาสัมพันธ์เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ออกประกาศ ข้อความว่า...
“สำนักการประปา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ลดแรงดันการจ่ายน้ำประปา แก้ปัญหาน้ำไม่พอใช้ช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. และเวลา 21.00-05.00 น. ช่วงเวลาอื่นจ่ายน้ำปกติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนเป็นต้นไป เนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และอากาศแล้งจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้น้ำดิบซึ่งใช้ผลิตน้ำประปามีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ทางสำนักการประปาจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาช่วงหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ด้วยสภาวการณ์เช่นนี้ จึงต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำสำรองทั้ง 2 แหล่ง เพื่อมาผลิตน้ำประปาให้แก่พี่น้องประชาชน…
“ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2559 เป็นต้นไป ทางสำนักการประปา จึงมีความจำเป็นต้องลดแรงดันน้ำ โดยจะจ่ายน้ำแรงดันปกติช่วงเวลา (เช้า) 05.00-09.00 น. และ (เย็น) 17.00-21.00 น. ส่วนเวลาอื่น สำนักการประปา ยังคงสูบจ่ายน้ำให้พี่น้องประชาชนตามปกติ โดยลดแรงดันน้ำลงบ้างซึ่งอาจส่งผลให้การจ่ายน้ำไม่สมบูรณ์เต็มที่...
“และในวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2559 สำนักการประปาจะหยุดการผลิตน้ำของโรงกรองทวดทอง เพื่อซ่อมท่อน้ำดิบจากโรงสูบท่าใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่อาศัยในเขต 3 และ 4 จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสำรองน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอ และจะได้เริ่มตั้งจุดบริการน้ำให้พี่น้องประชาชนต่อไป”
นี่คือข้อความที่คุ้นชินมาเป็นปีที่ 5 อันถือว่าเป็นการยอมรับสภาพอย่างเป็นทางการอีกครั้งของสำนักการประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่ยังมีผู้บริหารสูงสุดของท้องถิ่นแห่งนี้เป็นคนเดิมเช่นเดียวกับห้วงเวลาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คือ “นายเชาว์นวัศ เสนพงศ์” ผู้ได้รับวีซ่าจาก “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ให้ดำรงตำแหน่ง “นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช” ต่อไปหลังจากหมดวาระลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2558
4 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ทุ่มลงไปสำหรับการแก้ไขปัญหาระบบประปาของเทศบาลแห่งนี้หลายสิบล้านบาท แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมานั้น ยังหาอะไรที่จับต้องแทบไม่ได้ หลายหมู่บ้านแม้จะอยู่ห่างโรงผลิตน้ำประปาทวดทองย่าน ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร
แต่ตั้งแต่เดือนมีนาคมมาแล้ว การไหลของน้ำจากท่อจำหน่ายเทียบ เมื่อเคียงกับความแรงของ “ฉี่วัว” คงมีระดับความดันท่อที่สูสีกัน
4 ปีที่ผ่านมา เทศบาลนครศรีธรรมราชแห่งนี้นิยมชมชอบในการเดินทางไปศึกษาดูงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศไม่เว้นว่าง แต่ยังไม่เห็นสิ่งที่ไปดูงานจะนำมาปรับใช้ต่อการบริหารจัดการเพื่อคุณภาพของท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม เว้นแต่ “คอกเป็ดแมนดาริน” ในสวนสาธารณะที่อวดอ้างสรรพคุณว่า ได้รับแนวคิดมาจากการศึกษาดูงานในต่างประเทศ
นี่ก็ยังแปลกใจช่วงหลังที่ คสช.สั่งห้ามท้องถิ่นไปศึกษาดูงานต่างประเทศ แต่ไฉนเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ยังทำได้ หรือว่าคงได้วีซ่าพิเศษจาก คสช.กระมัง
เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีลำคลองสายหลักไหลผ่านตัวเมืองถึง 5 สาย เหนือน้ำของลำคลองเหล่านี้มีตัวแบบของการแก้ไขปัญหาง่ายๆ แบบไม่ต้องใช้งบประมาณมากในการแก้ปัญหาน้ำ แต่กระนั้น การใช้งบประมาณน้อยนี่คงเป็นอุปสรรคสำคัญในการดูงานของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อที่จะมาปรับใช้ ตัวแบบ “ฝายมีชีวิต”ที่ชาวบ้านริมลำคลองรวมตัวกันสร้างขึ้นมาจากกระสอบทราย ไม้ไผ่ และเชือก แต่สามารถเพิ่มระดับน้ำในลำคลองกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง เพิ่มระดับน้ำใต้ดิน ฟื้นฟูนิเวศสองฝั่งคลองจนเป็นผลสำเร็จ
แต่วิธีการนี้แตกต่างกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ ที่ภาพโดยทั่วไปมักจะเน้นการขุดลอกคูคลอง ด้วยข้ออ้างการขยายลำคลองให้ลึก และกว้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ และต้องแลกต่องบประมาณก้อนโต ลึกแค่ไหน กว้างแค่ไหน ไม่เคยมีใครดำน้ำไปตรวจสอบ แต่วิธีการนี้ท้องถิ่นที่อยู่ริมเชิงเขา มีลำธาร ดันทะลึ่งไปขุดให้ลำธารกว้างขึ้น ก้อนหินใหญ่น้อยจากนิเวศลำธารถูกแบ็กโฮกวาดขึ้นมากองไว้บนสองตลิ่ง
ผู้บริหารคงใช้สมองจากหัวแม่โป้งในรองเท้าหนังมันวาวคิดสร้างสรรค์จัดวงโครงการ สิ่งนี้กลายเป็นการสร้างความแห้งแล้ง ทำลายนิเวศคลองได้อย่างรวดเร็ว น้ำใต้ดินงวดแห้งลงไปอย่างน่าใจหาย เงินแผ่นดินอันคือภาษีของชาวบ้านถูกเอาไว้ผลาญเล่น และไว้ให้ผู้บริหารที่ไร้วิธีคิดสมคบผู้รับเหมากันอย่างหน้าตาเฉย
ส่วนเทศบาลนครนครศรีธรรมราชนั้น แว่วข่าวจากภายในว่า หากสำนักการประปาเป็นองค์กรธุรกิจเอกชน มาถึงวันนี้ไม่หนีสภาพล้มละลายทางธุรกิจ อันเป็นความล้มเหลวจากผลการขาดทุนไม่เป็นท่า ทั้งคุณภาพน้ำ และความน่าเชื่อถือ โชคดีที่เป็นองค์กรในสังกัดท้องถิ่น การขาดทุนยับเยินคงพอประคับประคองไปได้จากการโยกกระเป๋าซ้ายใส่กระเป๋าขวา
ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ต้องยอมรับประการหนึ่งในความพยายามดิ้นรนโครงการวางท่อหลายสิบล้าน อีกทั้งมีโครงการซื้อน้ำจากเอกชน อย่างหลังนี่เล่นเอาตื่นตะลึงในความพยายาม เพราะงบประมาณที่ใช้ในการนี้ตลอด 30 ปี ต้องจ่ายหลายพันล้านบาททีเดียว แต่โชคดีที่ไม่ผ่านสภาฯ
จึงได้แค่เช่าบ่อน้ำเก่าจากนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง แจกแถมรถดับเพลิงเก่าแก่ระดับตำนานของเทศบาลสุดคลาสสิกไปจอดทิ้งประดับบารมีหน้าบ้านเจ้าของบ่อน้ำอีกคัน พร้อมวางท่ออีกหลายล้านบาทมายังโรงผลิตน้ำทวดทอง แต่กลับยังไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถในการส่งจ่ายน้ำให้ชาวบ้าน ผลงานการจัดซื้อเครื่องจดบันทึกมิเตอร์การใช้น้ำของประชาชน นี่คงเป็นผลงานที่โดดเด่นที่สุดในสำนักการประปา
ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ต้องใช้บริการจากสำนักการประปาที่นี่ พยายามนึกย้อนไปตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยเจอวิกฤตการณ์ขาดน้ำใช้เช่นนี้มาก่อน และยิ่งเมื่อมอง 4 ปีย้อนหลังแล้วกลับมาสู่ปีที่ 5 ในวันนี้ ต้องยอมรับโดยดุษณีว่า มันเข้าสู่การเป็น “วิกฤตซ้ำซาก” ไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย
ปัญหาเช่นนี้หากคิดเล่นๆ เอคลายร้อน โดยไม่เกี่ยวอะไรกับใคร เราควรจะถือเป็นบทพิสูจน์ “กึ๋น” ของใครกันดี หากจะกล่าวโทษ “ลุงตู่” ท่านก็คงไม่รู้เรื่องการใช้น้ำของชาวบ้าน โทษกึ๋นของชาวบ้านต้นน้ำที่รู้จักคิด และมีสมองในการหาวิธีการแก้ไขปัญหา หรือกล่าวโทษงบประมาณที่มันล้น และเรี่ยราดมากเกินไป หรือกล่าวโทษพระพิรุณที่ไม่ยอมส่งน้ำลงมาให้ หรือจะโทษความจัญไรของใครกันดีหนอ…
แต่อย่าคิดมาก ไปคิดเตรียมหาน้ำมาใช้ในบ้านกันเถอะครับ..?!