xs
xsm
sm
md
lg

ม.วลัยลักษณ์ปลูกต้นประดู่ใหม่ พร้อมหาทางป้องกันปัญหาต้นยืนต้นตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - ม.วลัยลักษณ์ จัดปลูกต้นประดู่ชุดใหม่ คู่ขนานการศึกษาวิจัยหนอนศัตรูพืชที่เจาะทำลายต้นประดู่ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหายืนต้นตาย

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย ในฐานะรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงกรณีมีเสียงสะท้อน รวมทั้งติติงถึงกรณีตัดต้นประดู่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่า ต้องขอบคุณประชาคมทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย ตลอดจนศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันทุกคนที่ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องการตัดต้นประดู่ ทั้งนี้ ขอยอมรับ และขออภัยในความผิดพลาดในการตัดต้นประดู่ครั้งนี้ที่ไม่ได้มีการชี้แจงให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วกันก่อน
 

 
“ขอยืนยันว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อต้นประดู่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันแห่งนี้ โดยสาเหตุหลักของการตัดในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากต้นประดู่ดังกล่าวมีการยืนต้นตายจำนวนมาก และอีกหลายต้นอยู่ในสภาพทรุดโทรมจากศัตรูพืช แต่หากเลือกตัดไปจะเกิดความไม่เสมอโดยเฉพาะหากปลูกต้นใหม่ทดแทน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วนั้น มหาวิทยาลัยมีแผนในการปรับปรุงการปลูกต้นไม้ในบริเวณของมหาวิทยาลัยทั้งหมดอยู่แล้ว และเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยครบรอบ 24 ปี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาได้ร่วมกันปลูกต้นประดู่ จำนวน 300 ต้น เพื่อปลูกทดแทนต้นที่ตายจำนวนมาก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญต่อต้นไม้ โดยเฉพาะต้นประดู่ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย นอกจากการปลูกต้นประดู่ใหม่ทดแทนแล้วนั้น ยังจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อดูแลในเรื่องต้นไม้ของมหาวิทยาลัย โดยจะเชิญบุคคลทั้งหน่วยงานภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยมาร่วมกันวางแผนในระยะยาวอีกด้วย
 
 

 
ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.วลัยลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคพืช บอกว่า การยืนต้นตายของต้นประดู่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ไม่เฉพาะในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมไปถึงเขตอุทยานต่างๆ ซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไป ส่วนสาเหตุเกิดจากศรัตรูพืช 2 ชนิด คือ มอดรูเข็ม และด้วงหนวดยาวประดู่ โดยตัวการสำคัญเกิดขึ้นจากด้วงหนวดยาวประดู่ ที่มีลำตัวขนาด 3-5 เซนติเมตร มีวงจรชีวิตนานถึง 8 เดือน ด้วงชนิดนี้จะทำการวางไข่กระจายทั่วทั้งลำต้นของต้นประดู่ และมีการฟักเป็นตัวก็จะทำการเจาะลำต้นของประดู่ จนระบบการลำเลียงอาหารถูกตัดขาด ส่งผลให้กิ่งก้านเริ่มตายก่อน หลังจากนั้น ก็จะมีการยืนต้นตาย

“ปัญหาดังกล่าวทางสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร จะมีการวางแผนเพื่อทำการศึกษาหาแนวทางป้องกัน และแก้ไขทั้งระบบ และจะเป็นผลการศึกษาที่จะต้องสามารถควบคุมศัตรูพืชที่เจาะทำลายต้นประดู่ได้อย่างเด็ดขาด โดยจะมีการศึกษา และดูแลต้นประดู่ที่จะปลูกใหม่ให้อยู่อย่างยั่งยืน และเคียงคู่กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ตลอดจนเพื่อเป็นความรู้นำไปถ่ายทอดให้แก่พื้นที่ที่มีการปลูกประดู่อื่นต่อไป” ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ กล่าว
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น