คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้
โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
--------------------------------------------------------------------------------
เอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi Steud)
“เอื้องผึ้ง” ถูกค้นพบครั้งแรกทางภาคเหนือของประเทศพม่าในปี ค.ศ.1840 โดย Ernst Gottlieb von Steudel เป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อระบุชนิดนั้นตั้งให้เป็นเกียรติแด่ Sir John Lindley จัดอยู่ในสกุลของ Dendrobium
ในประเทศไทยนิยมเรียกสกุลนี้ว่า “หวาย” หรือ “เอื้อง” ซึ่งนับเป็นสกุลที่ใหญ่ที่สุดของวงศ์กล้วยไม้ มีมากกว่า 150 ชนิด แหล่งที่พบในประเทศไทย พบได้ในป่าดิบแล้งเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง เขตการกระจายพันธุ์ สิกขิม ภูฏาน อินเดีย จีน พม่า ลาว และเวียดนาม
ลักษณะของต้นจะมีผิวลำลูกกล้วยที่คล้ำ คือ มีสีเขียวเข้ม ใบมีลักษณะกลมรี และหนา และจุดสังเกตที่ดูง่ายที่สุด คือ 1 ลำลูกกล้วยจะมีเพียง 1 ใบเท่านั้น
ดอกเอื้องผึ้งมีสีเหลืองสดใส ช่อดอกเกิดจากข้อห้อยลงเป็นพวง ทั้งช่อขนาดตั้งแต่ 15-40 ซม. มีจำนวนดอกไม่แน่นจนเกินไป พลิ้วไหวได้ง่ายเมื่อยามต้องลม ดอกบานเต็มที่ขนาด 2-3 ซม.
แรกบานจะมีสีเหลืองอมเขียว ระยะต่อๆ มาสีจะเข้มขึ้น จนเป็นสีเหลืองอมส้มแสด มีกลิ่นหอมอ่อนๆ บานทนประมาณ 1 สัปดาห์นับจากวันที่บานเต็มที่แล้ว ดอกจะออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย ทนต่ออากาศร้อน จึงเป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่เป็นที่นิยมปลูกกันทั่วไป โดยเฉพาะในภาคเหนือ อีกทั้งลักษณะของดอกมีกลิ่นหอมหวานอันพิเศษราวกับน้ำผึ้ง
“เอื้องผึ้ง” จึงถูกขนานนามอีกชื่อว่า “Honey fragrant”
--------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
- กล้วยไม้เมืองไทย รศ.ดร. อบฉันท์ ไทยทอง
- www.orchidtropical.com/dendrobium-lindleyi.php