ตรัง - หลายอำเภอในตรังฝนแล้งจัด ทำขาดน้ำอุปโภคบริโภคหลายพื้นที่ รวมทั้งมัสยิดหลายแห่งเริ่มขาดน้ำในการทำละหมาด แม้แต่การก่อสร้างยังต้องสั่งซื้อน้ำมาทำการก่อสร้าง ขณะที่ ปภ.ตรัง แจงขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 6 อำเภอ จากทั้งหมด 10 อำเภอในตรัง
วันนี้ (19 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า ชาวบ้านบ้านท่าหยี หมู่ที่ 4 ต.คลองชีล้อม อ.กันตัง จ.ตรัง กำลังประสบปัญหาสภาวะภัยแล้งหลายตำบลเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะเรื่องน้ำใช้อุปโภคบริโภค และหลังจากที่ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านเรื่องปัญหาน้ำกินน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง พบว่า ขณะนี้น้ำไม่เพียงพอ ทั้งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำประปาหมู่บ้านไม่ไหล เนื่องจากไม่มีน้ำ จึงต้องสั่งซื้อน้ำอุปโภคบริโภคแบบวันเว้นวันไว้ใช้ในครัวเรือน ประมาณ 2,000 ลิตร ราคา 300 บาท ซึ่งใช้ได้ประมาณ 2 วัน แต่ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองชีล้อม ได้แจกจ่ายน้ำช่วยเหลือบ้างบางส่วน เพราะต้องเฉลี่ยกันทุกหมู่บ้าน แต่ยังคงไม่เพียงพออยู่ดี
ขณะที่มัสยิดบ้านท่าหยี และวัดคลองชีล้อม ก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมที่ใช้ในการอาบน้ำละหมาด รวมทั้งขณะนี้ขาดแคลนน้ำในการก่อสร้างต่อเติมมัสยิดตามโครงการของรัฐบาล ตำบลละ 5 ล้าน มาตรฐานการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับอำเภอละ 5 ล้านบาท เนื่องจากน้ำที่ใช้ในการผสมปูนซีเมนต์ในการก่อสร้าง โบกปูนมัสยิดก็ไม่มี จึงจ้องสั่งซื้อน้ำจากพ่อค้าขายน้ำให้มาส่งทุกวัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ขณะที่ นายอำนาจ ทองฤทธิ์ อายุ 62 ปี ประกอบอาชีพส่งน้ำอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ตนเองได้หันมาประกอบอาชีพรับส่งจำหน่ายน้ำอุปโภคบริโภคมาหลายปีแล้ว แต่ปีนี้ถือว่ารุนแรงกว่าทุกปีเพราะขาดแคลนน้ำกันทุกตำบล ตนเอง และผู้ประกอบอาชีพจำหน่ายน้ำอุปโภคบริโภคต้องช่วยกันแจกจ่ายกว่า 10 คัน สำหรับการจำหน่วยน้ำอุปโภคบริโภคนั้นตนเองไปรับซื้อน้ำมาอีกที บรรทุกได้เที่ยวละ 2,000 ลิตร ซื้อมาในราคา 40-50 บาท ราคาที่จำหน่ายให้แก่ชาวบ้าน 1,000 ลิตร ตกอยู่ที่ 250-300 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ไปส่ง
โดยในแต่ละวันตนเองส่งน้ำอุปโภคบริโภคประมาณ 10 กว่าเที่ยวต่อวัน สำหรับอาชีพจำหน่ายน้ำอุปโภคบริโภคพออยู่ได้เฉพาะหน้าแล้งเท่านั้น ส่วนหน้าฝนไม่มีใครซื้อ ส่วนทางภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือต้องประกาศเป็นเขตพิบัติที่ต้องให้ความช่วยเหลือเสียก่อน โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบล ก็จะเรียกมาให้ตนประมูลจำหน่ายน้ำอุปโภคบริโภค ตนเองก็จะเข้ามาช่วยกันแจกจ่ายน้ำเพราะเพียงแค่รถของเทศบาลเองไม่สามารถแจกจ่ายได้ทั่วถึง เนื่องจากบางพื้นที่เส้นทางเข้าไปลำบาก ต้องเป็นรถเล็กถึงจะเข้าไปได้
ในขณะที่ นายสมเกียรติ อินทรคำ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนเองได้ลงพื้นที่ไปสำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้านก่อนหน้านี้แล้ว และได้ร่วมกันประชุมปรึกษาหารือเร่งให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง จ.ตรัง เข้าสู่ช่วงเขตต้องให้ความช่วยเหลือ 6 อำเภอ จากทั้งหมด 10 อำเภอของจังหวัด ซึ่งเป็นเงินอยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ คนละ 500,000 บาท
หลังจากนี้ ต้องรอการพิจารณาจากท้องถิ่น และอำเภอร้องขอต่อไป จ.ตรัง ถือว่ายังไม่ขาดแคลนน้ำแต่จะต้องงดจ่ายน้ำในบางช่วงเวลา ตนเองลงไปพบกับประปาส่วนภูมิภาค 4 สาขา ซึ่งสามารถรองรับ และใช้น้ำช่วยเหลือกันได้ตลอด ส่วนน้ำประปาชุมชนที่ยังต้องรอการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนศาสนสถาน มัสยิด และวัด ตนเองจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หากขอความช่วยเหลือก็จะเข้าไปดูแลทันที