xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.สงขลาจับมือชลประทาน 16 เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ลงคลอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อบจ.สงขลา จับมือชลประทาน 16 เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง สั่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำจากทะเลสาบลงลำคลอง พร้อมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือภัยแล้งให้ประชาชนในแต่ละอำเภอ

วันนี้ (16 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ จ.สงขลา ว่า นายปริญญา สังคะนายก ผอ.สำนักชลประทานที่ 16 จ.สงขลา เปิดเผยว่า ชลประทาน 16 รับผิดชอบ 4 จังหวัดภาคใต้ได้แก่ จ.พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปกติยังเพียงพอต่อน้ำอุปโภคบริโภค โดย จ.พัทลุง มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำป่าบอน ร้อยละ 55 อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง ร้อยละ 100 อ่างเก็บน้ำป่าพะยอม ร้อยละ 93 จ.ตรัง อ่างเก็บน้ำท่างิ้ว ร้อยละ 98 จ.สงขลา อ่างเก็บน้ำจำไหร่ ร้อยละ 59 อ่างเก็บน้ำคลองหลา ร้อยละ 28 อ่างเก็บน้ำสะเดา ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนผลิตประปา มีร้อยละ 72 จ.สตูล ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ ต้องสูบน้ำจากลำคลองธรรมชาติ
 

 
ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ จ.สงขลา อาจจะประสบปัญหาบ้างจากปริมาณน้ำจืดในทะเลสาบสงขลาลดลง ส่งผลทำให้น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยไหลแทนที่ น้ำมีความเค็มเพิ่มขึ้นทำให้กระทบต่อพื้นที่การเกษตร อ.ระโนด ประมาณกว่า 1 แสนไร่ได้ ดังนั้น ชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 51 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ 8 คัน เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่

ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา เปิดเผยว่า ทาง อบจ.สงขลา ได้เตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งไว้ในเบื้องต้น ร่วมกับสำนักงานชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำจากทะเลสาบลงคลองพลเอกอาทิตย์ฯ เพื่อให้เกษตรในคาบสมุทรสทิงพระ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สทิงพระ ระโนด กระแสสินธุ์ และ อ.สิงหนคร ใช้เพื่อการเกษตร
 

 
นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือภัยแล้งให้ประชาชนส่วนหน้า ที่ อ.นาทวี เพื่อช่วยเหลือประชาชน อ.นาทวี เทพา สะบ้าย้อย จะนะ และตั้งศูนย์ที่ อ.นาหม่อม ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ อ.นาหม่อม อ.หาดใหญ่ สะเดา คลองหอยโข่ง และ อ.บางกล่ำ และได้เตรียมงบสำรองไว้ประมาณ 30 ล้านบาท ในการช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้เตรียมรถบรรทุกน้ำไว้ 4 คัน ออกแจกจ่ายอีกด้วย

ทั้งนี้ มาตรการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะยาว ทาง อบจ.ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำการขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขินเพื่อเก็บน้ำในฤดูฝน และขุดลอกคลองอาทิตย์ฯ ซึ่งเป็นเสมือนสายน้ำเส้นเลือดใหญ่ของประชาชนในคาบสมุทรสทิงพระ ให้มีความลึก และกว้างกว่าเดิมเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำฝนได้เพิ่มมากขึ้น
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น