ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กองทัพภาคที่ 4 ส่งเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจ และถ่ายภาพทางอากาศประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ นครศรีธรรมราช ที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 700 ปี และยังเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
วันนี้ (22 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพภาคที่ 4 ส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินสำรวจทางอากาศในประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชน ซึ่งมีมาอย่างยาวนานในพื้นที่นครศรีธรรมราชมากกว่า 700 ปี และยังเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สำหรับวันมาฆบูชา
โดยบรรยากาศทางอากาศมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมขบวนด้วยความศรัทธา และมีริ้วขบวนเกียรติยศผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน 5 ผืน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงถวายเป็นพุทธบูชา ณ องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช โดยขบวนมีข้าราชการแต่งชุดขาวเต็มยศอัญเชิญมุ่งหน้ายังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารตามประเพณี
พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งได้เข้าเป็นประธานในพิธีเป็นวาระพิเศษในประเพณีสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระราชทานผ้าพระบฏมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เนื่องในวันมาฆบูชา ถือเป็นสิริมงคลแก่ชาวนครศรีธรรมราชอย่างยิ่ง
โดยผ้าพระบฏพระราชทานทั้ง 5 ผืน ได้นำขึ้นถวายบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เป็นการสนับสนุนการนำเสนอพระบรมธาตุขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถือเป็นปูชนียสถานที่มีมายาวนานกว่า 700 ปี
สำหรับประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช สืบทอดมากว่า 700 ปี จากตำนานที่เล่ากันว่า ในปี พ.ศ.1773 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์ของเมืองนครศรีธรรมราช ได้สมโภชพระบรมธาตุเจดีย์
ชาวเมืองอินทปัตย์ เดินทางไปนมัสการพระธาตุที่ศรีลังกาที่ถูกพายุพัดจนเรือแตก มีผู้รอดชีวิตราว 10 คน มาขึ้นฝั่งที่เมืองปากพนัง พร้อมด้วยผ้าขาวผืนยาวมีภาพพุทธประวัติเขียนไว้ที่ผ้า เรียกกันว่า “ผ้าพระบฏ” จึงนำไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และได้โปรดให้นำผ้าดังกล่าวขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และตั้งแต่นั้นมาจึงได้ปฏิบัติต่อเนื่องจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน